กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เร่งเดินหน้าปฏิรูประบบทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดมเชิญหน่วยงานภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา ภาคเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กว่า 80 คน ร่วมประชุมหารือ Thailand 4.0 R&I Open Forum ครั้งที่ 3/2561 เรื่อง การปฏิรูประบบทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ห้อง ซาลอน เอ ชั้น 2 โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ หวังเป็นแนวทางสนับสนุนบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0”
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า การจะพัฒนาประเทศไทยตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 ได้นั้น จำเป็นต้องยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง โดยปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะไปสู่เป้าหมายดังกล่าว คือการมีบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพสูง มีความรู้ในสาขาเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลก ทังนี้ การจัดสรรทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภาครัฐ ถือเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการเตรียมบุคลากรที่มีศักยภาพสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต และแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในสาขาเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ โดยปัจจุบัน มีหน่วยงานหลายแห่งที่จัดสรรทุนการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการวางแผนการให้ทุนในภาพรวม รวมถึงพัฒนาแนวทางในการใช้ประโยชน์นักเรียนทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศสู่ประเทศไทย 4.0” ดร.สุวิทย์ กล่าว
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า สวทน. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในฐานะผู้จัดการประชุมหารือ Thailand 4.0 R&I Open Forum ได้รับข้อสั่งการจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้หยิบยกเรื่องการปฏิรูประบบทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเป็นหัวข้อในการประชุม เนื่องจากเห็นว่า แรงขับเคลื่อนสำคัญในการนำพาประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 ได้นั้น ต้องอาศัยบุคลากรที่มีศักยภาพ ประกอบกับระบบการจัดสรรทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ผ่านมาจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้อง และตอบโจทย์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และวิสัยทัศน์ของประเทศ โดย สวทน. และ ก.พ. ได้เชิญทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา ภาคเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กว่า 80 คน มาร่วมหารือถึงแนวทางการปฏิรูประบบทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในครั้งนี้
สำหรับแนวทางการปฏิรูประบบทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถรองรับการพัฒนาประเทศสู่ ประเทศไทย 4.0 ได้นั้น ความท้าทายอยู่ที่การปรับกรอบแนวคิดการปฏิรูประบบทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยคำนึงถึงความต้องการของประเทศเป็นหลัก โดยประเทศไทยจะต้องมีระบบการวางแผนกำลังคน (Brain Power Planning) ของประเทศในภาพรวม ซึ่งจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลกำลังคนของประเทศเพื่อช่วยวางแผนการพัฒนาและใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีศักยภาพสูง อีกทั้งหน่วยงานให้ทุนต่าง ๆ ต้องบูรณาการการจัดสรรทุนร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ยิ่งไปกว่านั้น นอกเหนือจากการพัฒนาบุคลากรขึ้นมาเอง (Build) ควรพัฒนาแนวทางใหม่ๆ ในการดึงดูดผู้มีศักยภาพสูงทั้งจากภายในประเทศหรือต่างประเทศเข้ามาช่วยผลักดันประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งรวมถึงการยืมตัวชั่วคราว (Borrow) หรือการจ่ายเงินชดเชยเพื่อดึงดูดบุคลากร (Buy) เป็นต้น ตลอดจนจะต้องส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายบุคลากรระหว่างภาคส่วนต่างๆได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น และส่งเสริมให้นักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษาได้ทำวิจัยระดับหลังปริญญาเอกก่อนปฏิบัติงานเป็นนักวิจัยหรืออาจารย์ เป็นต้น
“ภาครัฐและภาคเอกชน ต้องมีการกำหนดเป้าหมายการจัดสรรทุนและวางแผนการใช้ประโยชน์นักเรียนทุนร่วมกัน และยิ่งไปกว่านั้น ควรให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากความรู้ความเชี่ยวชาญของนักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษาให้เต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การสนับสนุนให้นักเรียนทุนสามารถปฏิบัติงานในภาคเอกชนได้ รวมถึงการส่งเสริมให้นักเรียนทุนได้มีประสบการณ์การทำงานกับภาคอุตสาหกรรมหรือประสบการณ์การทำวิจัยก่อนเริ่มปฏิบัติงานชดใช้ทุน เป็นต้น” ดร.กิติพงค์ กล่าว
ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นที่ได้จากการประชุมหารือ Thailand 4.0 R&I Open Forum เรื่องการปฏิรูประบบทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในครั้งนี้ จะถูกนำไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำข้อเสนอการบูรณาการการจัดสรรทุนและการใช้ประโยชน์นักเรียนทุนรัฐบาลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป