เนื้อหาวันที่ : 2018-04-20 18:21:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1584 views

รัฐมนตรีวิทย์ฯ และคณะ เยี่ยมชมอุทยานไบโอเทค Berlin-Buch มุ่งเรียนรู้ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการวิจัยและพัฒนาด้านไบโอเทค หวังดึงเอกชนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในเขตพื้นที่ EECi

ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี: ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยผู้บริหาร สวทช. กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เยี่ยมชมอุทยานเทคโนโลยีชีวภาพ Berlin-Buch (BiotechPark Berlin-Buch) โดยมี Prof.Dr.Martin Lohse (ศ.ดร.มาร์ติน โลเซ่อ) ประธานคณะกรรมการและกรรมการวิทยาศาสตร์ของ Max Delbrück Center for Molecular Medicine: MDC ให้การต้อนรับ ซึ่งอุทยานไบโอเทคแห่งนี้มีความพร้อมในการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์ที่ทันสมัยและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมด้วยกลไกการทำงานที่ดึงดูดภาคเอกชนจำนวนมากให้เข้ามาตั้งศูนย์วิจัยในที่นี้ และคาดหวังจะนำแนวคิดและกลไกในการพัฒนา Biotech-related Innovation Ecosystem มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาพื้นที่ EECi ของไทยต่อไป

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า อุทยานเทคโนโลยีชีวภาพ Berlin-Buch เป็นอุทยานเทคโนโลยีที่ตั้งอยู่ชานเมืองของกรุงเบอร์ลิน ถือเป็นหนึ่งในอุทยานเทคโนโลยีชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเยอรมนี เป็นสถานที่วิจัยและแหล่งบ่มเพาะธุรกิจหรือสตาร์ทอัพที่เข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยและเทคโนโลยีชั้นสูงด้านชีววิทยาศาสตร์ การเช่าพื้นที่เพื่อใช้เป็นสำนักงาน โดยอุทยานเทคโนโลยีชีวภาพ Berlin-Buch มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ มุ่งเน้นพัฒนายารักษาโรค เทคโนโลยีและระบบการนำส่งยา และการวินิจฉัยและการรักษาโรคในระดับโมเลกุล เป็นต้น ซึ่งอุทยานเทคโนโลยีชีวภาพ Berlin-Buch มีการจัดเตรียมระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ทั้งในส่วนของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และการวิจัยทางคลินิกซึ่งเป็นส่วนที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นแหล่งบ่มเพาะบริษัทสตาร์อัพ BiotechPark Berlin-Buch มีห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยและเทคโนโลยีชั้นสูงด้านชีววิทยาศาสตร์ รวมไปถึงให้บริการให้เช่าพื้นที่เพื่อใช้เป็นสำนักงาน ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพจำนวนมากเข้ามาตั้งอยู่ในอุทยานฯ แห่งนี้ สำหรับการเยี่ยมชมนอกจากจะได้ศึกษาความก้าวหน้าของงานวิจัยและห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีชีวภาพแล้ว ยังจะนำแนวคิดของอุทยานฯ และกลไกในการพัฒนา Biotech-related Innovation Ecosystem มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ของประเทศไทยตามความเหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ผู้บริหารของอุทยานเทคโนโลยีชีวภาพ Berlin-Buch ได้นำเสนอแนวทางการบ่มเพาะสตาร์ทอัพไบโอเทค การพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งแบบธุรกิจสู่ธุรกิจ และสถาบันวิจัยไปสู่ธุรกิจ ตลอดจนเข้าชมห้องปฏิบัติการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยี และไบโอแบงก์ที่เป็นคลังเก็บข้อมูลชีวภาพเป็นจำนวนมาก อุทยานฯ แห่งนี้มีเป้าหมายในการดึงภาคเอกชนจำนวนมากให้เข้ามาใช้พื้นที่ มีกลไกสิทธิประโยชน์พิเศษคือ มาตรการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้บริการได้โดยเสียค่าใช้จ่ายบางส่วน และมีเครื่องมือที่ทันสมัยใหม่สนับสนุนการวิจัยพัฒนาโดยไม่ต้องลงทุน รวมไปถึงมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจดสิทธิบัตร ปัจจุบันอุทยานเทคโนโลยีชีวภาพ Berlin-Buch มีพื้นที่กว่า 31,000 ตารางเมตร รองรับการใช้พื้นที่ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางและใช้เป็นพื้นที่สำนักงาน มีบริษัทเอกชนเข้ามาใช้พื้นที่จำนวน 54 บริษัท มีจำนวนพนักงานกว่า 800 คน