สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association–TTSA) เปิดเผยผลการสำรวจสถานภาพระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยประจำปี 2560 หรือ The Thai Startup Ecosystem Survey 2017 พร้อมเร่งสนับสนุนบุคลากร สร้างความร่วมมือระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่กับสตาร์ทอัพ และส่งเสริมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการให้คำปรึกษา เพื่อพัฒนาระบบนิเวศที่ตอบโจทย์ความต้องการของสตาร์ทอัพไทย
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานภาพระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยประจำปี 2560 ว่า สวทน. ได้สำรวจข้อมูลทั่วไปและความคิดเห็นสตาร์อัพไทยกว่า 200 ราย โดยผลการสำรวจมีหลายส่วนที่น่าสนใจ ดังนี้ สตาร์ทอัพส่วนมากได้ก้าวพ้นผ่านช่วง Idea Stage และดำเนินการจริงแล้ว ในขณะที่ 1 ใน 4 ของสตาร์ทอัพได้เติบโตถึงระดับผ่านการระดมทุนเป็นที่เรียบร้อย และมีสตาร์ทอัพมากถึง 65% ที่มีเป้าหมายในการถือครองและขยายธุรกิจระยะยาว ทั้งนี้ 5 อันดับกลุ่มอุตสาหกรรมยอดนิยมของสตาร์ทอัพในปัจจุบัน คือ ไลฟ์สไตล์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เทคโนโลยีทางการตลาด การท่องเที่ยว และ อี-คอมเมิร์ช ตามลำดับ ในส่วนของผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพหรือ co-founder พบว่า มีอายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มประกอบการอยู่ที่ 32 ปี และกว่าครึ่งสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทขึ้นไป แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนมากเคยมีประสบการณ์การทำงานมาก่อนประมาณ 5-10 ปีก่อนที่จะก่อตั้งสตาร์ทอัพของตัวเอง นอกจากนี้ยังพบว่าเงินทุนเริ่มต้นโดยเฉลี่ยสำหรับสตาร์ทอัพอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท โดย 55% ของเงินทุนนี้มาจากเงินทุนของผู้ร่วมก่อตั้งและคนรู้จักเอง และเป็นเงินทุนจากภาครัฐ Angel Investor และ VC อีก 45% ทั้งนี้ พบว่า 64% ของสตาร์ทอัพสามารถสร้างรายได้ได้แล้วและกว่า 26% มีความพร้อมและได้ขยายฐานลูกค้าสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการส่งเสริมสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้ให้เติบโตขึ้นมาได้ จะช่วยสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแรงมากขึ้น และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตรยังพร้อมให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
“จากผลการสำรวจด้านเทคโนโลยีสำคัญที่สตาร์ทอัพใช้ดำเนินการ พบว่าเป็นเทคโนโลยีซอฟท์แวร์ ถึง 59% Big Data 8% และ AI 7% ตามลำดับ และด้วยสัดส่วนที่สตาร์ทอัพใช้เทคโนโลยีซอฟท์แวร์เป็นส่วนใหญ่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้มีแนวทางการสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น หรือ Deep Tech เช่น AI หรือ Robotics มากขึ้น ผ่านโครงการ Innovative Startup ที่มีการส่งเสริมให้มีการนำนักวิจัยที่มีความพร้อมทั้งจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยมาพัฒนาต่อยอดในเชิงธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีสตาร์ทอัพไทยในกลุ่ม Deep Tech ที่ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัดหลายบริษัท อย่างเช่น บริษัท จู๊ซอินโนเวต ที่อาศัยเทคโนโลยีลดปริมาณน้ำตาลในน้ำผลไม้ด้วยวิธีการทางไบโอเทค ซึ่งเป็นงานวิจัยจากภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สามารถขายเทคโนโลยี (Licensing) แก่ผู้ผลิตผลไม้ต่างประเทศได้แล้วหลายราย เป็นต้น” ดร.กิติพงค์ กล่าว
ดร.กิติพงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมองแนวทางการพัฒนาสตาร์ทอัพที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีแนวทางพัฒนาที่ครอบคลุมหลายด้าน ทั้งการสนับสนุนการสร้างบุคลากรที่มีขีดความสามารถ ซึ่งผู้ประกอบการสตาร์ทอัพปัจจุบันขาดแคลนโปรแกรมเมอร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทน. ร่วมกับสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย จึงได้จัดอบรมทักษะการพัฒนาโปรแกรมในระดับเบื้องต้นถึงระดับสูงสำหรับบุคคลทั่วไป ภายใต้ชื่อการอบรม LEAN Non-Technopreneur Workshop และโครงการ Front-End Programmer Bootcamp ขึ้น เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ตลอดจนยังส่งเสริมการพัฒนาสตาร์ทอัพผ่านการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างเอกชนขนาดใหญ่และธุรกิจสตาร์ทอัพ ในโครงการ Business Brotherhood โดยความร่วมมือระหว่าง สวทน. มหาวิทยาลัย และกิจการขนาดใหญ่ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงและขยายตลาดไปสู่ระดับโลกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมีกิจการขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยงทางธุรกิจให้แก่ธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และ สวทน. เป็นแกนหลักในการผลักดันให้เกิดการกระบวนการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ โดยปัจจุบันมีการจัดตั้งศูนย์ฯ แล้ว จำนวน 15 ศูนย์ นอกจากนี้ ยังได้มีการดำเนินการด้านการส่งเสริมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้คำปรึกษาแก่สตาร์ทอัพ ภายใต้โครงการสร้างเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ (T-Club) ให้มีความเข้าใจในธุรกิจ การตลาด การบริหารจัดการและกฎหมาย ผ่านการฝึกอบรม ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดประสบการณ์ โดยผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ไปสู่ระดับโลก ทั้งนี้ สวทน. ยังให้ความสำคัญในการจัดตั้ง Regulatory Sandbox ซึ่งเป็นการทดสอบกฎหมาย กฎระเบียบ ในการกำกับดูแลสินค้าและบริการที่นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ ภายในพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมที่จำกัดและมีเกณฑ์การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น โดยในระยะแรกคาดว่าจะนำร่อง Sandbox ในหัวข้อที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยมาก อาทิ เศรษฐกิจแบ่งปัน(Sharing Economy) การทดสอบนโยบายในพื้นที่จำกัดเพื่อศึกษาผลกระทบก่อนที่จะขยายผลสู่วงกว้าง (Policy Sandbox) และการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจนวัตกรรม (Ease of Doing Innovation Business)
ด้าน นายวัชระ เอมวัฒน์ นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของความคิดเห็นของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ พบว่าสตาร์ทอัพส่วนมากมองว่าความพร้อมและความน่าเชื่อถือของระบบการชำระเงินของประเทศเป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบของประเทศไทยที่ช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่กฎหมาย กฎระเบียบของรัฐยังเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันแก้ไขให้สตาร์ทอัพสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพในนระดับที่น่าพอใจ โดยรัฐบาลให้การส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็นการที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใน 4 หัวข้อ ได้แก่ หุ้นกู้แปลงสภา (Convertible Debt), สิทธิที่จะซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด (ESOP), การทยอยให้หุ้น (Vesting) และหุ้มบุริมสิทธิ (Preferred Shares) รวมถึงการเดินหน้าจัดทำร่างพระราชบัญญัติพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและนวัตกรรมเชิงนโยบาย เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ
“ที่ผ่านมารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาสตาร์ทอัพค่อนข้างมาก เห็นได้จากความพยายามในการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้เอื้อต่อการเกิดสตาร์ทอัพ แต่อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความคิดเห็นของสตาร์ทอัพ พบว่า ยังคงมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจที่นอกจากอุปสรรคด้านระเบียบและนโยบายของรัฐ คือการขาดแคลนบุคลากรที่เป็นที่ต้องการของสตาร์ทอัพ โดย 5 อันดับสาขาพนักงานที่ขาดแคลน คือ โปรแกรมเมอร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี พนักงานฝ่ายขายและลูกค้าสัมพันธ์ พนักงานด้านการตลาด นักพัฒนาหรือวิเคราะห์ธุรกิจ รวมถึงดีไซเนอร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ตามลำดับ ซึ่งรัฐบาลและมหาวิทยาลัยต้องร่วมกันเดินหน้าเร่งสร้างบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสตาร์ทอัพไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าหากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริม เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเข้าสู่อุตสาหกรรมจะมีประโยชน์ต่อกลุ่มสตาร์ทอัพในระยะยาว” นายวัชระ กล่าว