บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือน ประจำปี 2550 งวดบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2550 ฉบับสอบทานของบริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิรวม 4,749.90 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 3.28 บาท ลดลง 438.23 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 8.45 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,188.13 ล้านบาท |
. |
นายธวัช วิมลสาระวงค์ รองกรรมการผู้จัดการพัฒนาธุรกิจ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินการของบริษัทในรอบ 9 เดือน ประจำปี 2550 ซึ่งมีผลกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 8.45 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักจากการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Overhaul) ของโรงไฟฟ้าราชบุรี ซึ่งเป็นไปตามแผนการหยุดซ่อมบำรุงที่กำหนดให้โรงไฟฟ้าต้องทำการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ทุกๆรอบ 6 ปี ส่งผลให้รายได้จากค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment) ประจำไตรมาส 3 ลดลงจำนวน 668.21 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ดังกล่าวมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิในรอบ 9 เดือนเพียงเล็กน้อย และคาดหมายว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประมาณการรายได้และกำไรสุทธิรวมประจำปี 2550 |
. |
ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 1-3 ประจำปี 2550 บริษัทมีรายได้รวม 34,522.64 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จาก ค่าขายไฟฟ้ารวมจำนวน 32,856.19 ล้านบาท ดอกเบี้ยรับจำนวน 465.11 ล้านบาท ส่วนแบ่งกำไรในกิจการร่วมค้า เป็นเงินจำนวน 613.67 ล้านบาท รายได้อื่นๆ จำนวน 587.67 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีรายได้จากค่าชดเชยประกันภัยในกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้เครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) เมื่อปี 2548 จำนวน 496.14 ล้านบาท เพิ่มเข้ามาในไตรมาสที่ 2 ขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายรวมเป็นจำนวน 28,662.23 ล้านบาท ประกอบด้วย ต้นทุนขาย 28,159.59 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายจากการบริหารและค่าตอบแทนกรรมการจำนวน 502.64 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้รวมจำนวน 1,110.51 ล้านบาท |
. |
ณ วันที่ 30 กันยายน 2550 บริษัทและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวม 70,046.25 ล้านบาท หนี้สินรวม จำนวน 33,645.95 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 36,400.30 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของ ผู้ถือหุ้นอยู่ที่ระดับ 0.92 เท่า และอัตราส่วนแสดงความสามารถในการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจ่าย (DSCR) อยู่ที่ระดับ 2.38 เท่า |
. |
สำหรับการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ไอพีพี) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบถึงความพร้อมในทุกด้าน ทั้งในด้านสถานที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้สายส่งและท่อส่งก๊าซ ระบบสาธารณูปโภคและเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐาน มาตรการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ ด้านการเงิน ตลอดจนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจไฟฟ้า จึงตัดสินใจเข้าร่วมประมูลไอพีพีครั้งนี้ |
. |
ทั้งนี้ บริษัทให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบเงื่อนไขและข้อระเบียบที่ภาครัฐกำหนดอย่างเคร่งครัดเช่นกัน โดยบริษัทได้ยื่นเสนอจำนวนทั้งสิ้น 2 โรง รวม 1,600 เมกะวัตต์ เป็นการยื่นประมูลโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด จำนวน 1 โรง ในพื้นที่ส่วนขยายของโรงไฟฟ้าราชบุรี จังหวัดราชบุรี และยื่นประมูลร่วมกับบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) อีก 1 โรง ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |