มร.เคน หู รักษาการณ์ประธานเจ้าหน้าที่บริ
หัวเว่ย ได้รับรางวัลประจำปี 2018 ด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรมโมบายล์ยอดเยี่ยม (2018 Award for Outstanding Contribution to the Mobile Industry) จากสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) โดยหัวเว่ยได้รับการยอมรับในฐานะองค์กรที่ส่งเสริมมาตรฐานเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมทั้งช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและสร้างสรรค์ระบบนิเวศแบบดิจิทัลมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ
มร.เคน หู รักษาการตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารหมุนเวียนตามวาระ บริษัท หัวเว่ย กล่าวในพิธีมอบรางวัลว่า “ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาเราได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายท่านเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 3G, 4G และจนถึง 5G ในปัจจุบัน รวมถึงเทคโนโลยีไอซีทีอื่น ๆ มีความก้าวหน้าเพื่อให้ผู้คนสามารถเชื่อมโยงสื่อสารถึงกันได้มากขึ้นผ่านบริการที่ดีขึ้น จนถึงตอนนี้หัวเว่ยได้เชื่อมโยงการสื่อสารของประชากรกว่า 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งผมรู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จของเรา ทว่าอุตสาหกรรมโมบายล์ก็ยังจะพัฒนาต่อไป และจะกลายเป็นรากฐานสำคัญของโลกอัจฉริยะที่ทุกอย่างเชื่อมถึงกันในอีกไม่ช้า เราจึงมีงานสำคัญที่ต้องทำอีกมาก”
รางวัล GSMA ด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรมโมบายล์ยอดเยี่ยมจะมอบให้กับบุคคล บริษัท และองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีและการสื่อสารเคลื่อนที่ให้เจริญก้าวหน้า นอกเหนือจากการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีแล้ว หัวเว่ยยังเป็นที่ยอมรับในฐานะองค์กรที่มีความมุ่งมั่นทุ่มเทในการประสานความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม โดยหัวเว่ยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐาน ตลอดจนองค์กรต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม รวมถึงชุมชนโอเพ่นซอร์สกว่า 360 แห่ง และมีบทบาทสำคัญในการสร้างเสริมระบบนิเวศดิจิทัลให้กว้างไกลยิ่งขึ้น
มร.สุนิล ภารตี มิททัล ประธาน สมาคม GSMA ผู้ก่อตั้งและประธาน บริษัท ภารตี เอ็นเตอร์ไพรส์ กล่าวว่า “ในนามของสมาคม GSMA ขอชื่นชมในความมุ่งมั่นทุ่มเทของหัวเว่ยที่ได้มีส่วนผลักดันส่งเสริมให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตรุดหน้า หัวเว่ยสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์โครงข่ายสื่อสารเคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของโลกได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 30 ปีเท่านั้น ผลงานของหัวเว่ยที่ช่วยสร้างมาตรฐานระดับโลก รวมทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ และความมุ่งมั่นตั้งใจในการช่วยให้ลูกค้าและพันธมิตรประสบความสำเร็จในการดำเนินงานต่าง ๆ จะมีอิทธิพลสำคัญยิ่งต่ออนาคตของอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาว”
นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2530 หัวเว่ยได้พัฒนาและขยายธุรกิจจากผู้แทนจำหน่ายอุปกรณ์ชุมสายโทรศัพท์จนกลายมาเป็นผู้นำระดับโลกด้านการให้บริการโซลูชันโทรคมนาคมและเครือข่ายสำหรับองค์กร รวมถึงอุปกรณ์สำหรับการใช้งานส่วนบุคคล นอกจากนี้หัวเว่ยยังให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนามาโดยตลอด เม็ดเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งหมดตั้งแต่ปี 2550-2559 เป็นจำนวนมากกว่า 4.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2559 เพียงปีเดียวหัวเว่ยลงทุนไปถึง 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลยุคใหม่ด้วยการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยี 5G ในแต่ละปีหัวเว่ยยังคงลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องคิดเป็นร้อยละ 10-15 ของรายได้ต่อปี