การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมมือกับ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ การบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นพลังงาน (Waste to Energy) ด้วยการส่งเสริมการคัดแยกขยะจากต้นทางโดยอาศัยหลัก 3R ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อจัดการขยะอุตสาหกรรมภายในนิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี ให้มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกนิคมฯ ด้วยการบริหารจัดการและแปรรูปขยะเป็นพลังงานเพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าภายในนิคมฯ อัจฉริยะ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการจัดการด้านพลังงานและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นของภาคอุตสาหกรรม ด้วยนโยบายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ.ด้วยยุทธศาสตร์ 4G+ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Green Strategy การสร้างสมดุลเพื่อการอยู่ร่วมกันของภาคอุตสาหกรรม สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม Great Strategy การยกระดับการให้บริการและการทำงานด้วยเทคโนโลยีและ และ Good Governance Strategy การยกระดับมาตรฐานองค์กรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากสังคม ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ภายในนิคมฯ ให้เจริญเติบโตไปพร้อมกับความเจริญของชุมชนควบคู่ไปกับการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างสมดุล กนอ. จึงได้มีนโยบายส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากของเสียอย่างคุ้มค่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน และการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
นายวีรพงศ์ กล่าวต่อว่า กนอ.จึงร่วมมือกับ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ การบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นพลังงาน (Waste to Energy) เพื่อส่งเสริมการกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรโดยการแปรรูปเป็นพลังงาน และนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco – Industrial town) โดย กนอ. จะนำร่องในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ด้วยการส่งเสริมการคัดแยกขยะจากต้นทางโดยอาศัยหลัก 3R ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมไปถึงการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการศึกษาเพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อให้สอดรับกับ Industry 4.0 นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันการลักลอบทิ้งกากของเสียนอกนิคมฯ ส่งผลให้สามารถลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างสมดุลการอยู่ร่วมกันของภาคอุตสาหกรรม สังคม ชุมชนได้ต่อไป
นายวิกรม กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือระหว่างอมตะ และ กนอ. ในครั้งนี้ทั้งสองฝ่าย จะร่วมกันศึกษารูปแบบและวางแนวทางการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมแบบครบวงจร เพื่อนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าภายในระยะเวลา 1 ปี โดยทาง กนอ. จะส่งเสริมการดำเนินงานของโครงการและกิจกรรมด้านวิชาการภายใต้โครงการยกระดับการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรม และ การพัฒนาระบบการแปรรูปขยะให้เป็นพลังงาน(Waste to Energy) สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า ในนิคมฯ อมตะ ซิตี้ ชลบุรี เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของ กนอ. ทั้งนี้ในส่วนของอมตะ ฯ จะทำหน้าที่ในการศึกษาในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบำบัดขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย โดยมีระบบการจัดเก็บและกำจัดขยะอุตสาหกรรมให้ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ขณะเดียวกันจะศึกษาแผนการบริหารระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ และใช้เทคโนโลยีในการควบคุมการขนส่งที่ทันสมัย
“การดำเนินโครงการ การบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นพลังงาน ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่จะพัฒนาด้านการจัดการพลังงานอัจฉริยะ หรือ Smart Energy ที่เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนานิคมฯอมตะไปสู่ AMATA Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการจัดการด้านพลังงานและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นไปตามแนวทางของรัฐบาล ที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0” นายวิกรม กล่าว
สำหรับการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนานิคมฯ อมตะ ซิตี้ ชลบุรี สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะทั้ง 10 ด้าน ประกอบด้วย 1) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) 2) การเดินทางอัจฉริยะ (Smart Mobility) 3) ชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) 4) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) 5) ระบบการศึกษาอัจฉริยะ (Smart Education) 6) สายการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) 7) เมืองอากาศยานอัจฉริยะ (Smart Aerospace City) 8) นวัตกรรมอัจฉริยะ (Smart Innovation) 9) ระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) และ 10) การบริหารจัดการเมืองแบบอัจฉริยะ (Smart Governance)