ก.พลังงาน ชูภาพลักษณ์ใหม่ พร้อมเปิดตัวทีมผู้บริหารสู่ความสำเร็จ ย้ำช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาล เร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม ผลักดันให้นำโรงกลั่น SPRC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เตรียมการรองรับ พรบ.ประกอบกิจการพลังงาน
ก.พลังงาน ชูภาพลักษณ์ใหม่ พร้อมเปิดตัวทีมผู้บริหารสู่ความสำเร็จ ย้ำช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาล เร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม ผลักดันให้นำโรงกลั่น SPRC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เตรียมการรองรับ พรบ.ประกอบกิจการพลังงาน จัดตั้งสำนักงานพลังงานจังหวัด ยัน นโยบายพลังงานในอนาคต การกำกับดูแลต้องเป็นอิสระจากการเมือง ระบบผลิตพลังงานต้องมีประสิทธิภาพ งานวิจัยด้านพลังงานเป็นระบบมากขึ้น และราคาพลังงานในประเทศให้เหมาะสมและเป็นธรรม |
. |
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา (ต.ค. 49 - ก.ย .50) กระทรวงพลังงานได้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จตามเป้าหมายและมีผลงานที่สำคัญ ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง สำหรับการดำเนินงานต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลนั้น กระทรวงพลังงานจะเร่งสานต่อโครงการสำคัญ ๆ เพื่อวางรากฐานการจัดหาพลังงานอย่างมั่นคงก่อนส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ต่อไป ได้แก่ |
. |
การเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น อาทิ การลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสัมปทานเอ็ม 9 ของ ปตท.สผ. ในสหภาพพม่า ประมาณ 300 - 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังจากที่ได้มีการขุดเจาะสำรวจจนพิสูจน์ทราบปริมาณสำรองของก๊าซเพิ่มเติมแล้ว การเข้าไปเจรจาร่วมทุนและซื้อขายก๊าซทางท่อจากแหล่งนาทูน่า ในอินโดนีเซีย โดยแหล่งนาทูน่า ถือว่าเป็นแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของภูมิภาค ตลอดจนการสร้างความชัดเจนในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น |
. |
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานจะได้เร่งผลักดันและสนับสนุนให้ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (SPRC) ปฏิบัติตามสัญญาประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียมในการนำโรงกลั่น SPRC เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ต่อไป ภายหลังที่ประสบความสำเร็จในการสนับสนุนให้นำโรงกลั่นเอสโซ่ ยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว การชี้แจงร่างพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน ในขั้นกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งเตรียมการรองรับเมื่อมีการตราออกเป็นกฎหมายแล้ว การปรับโครงสร้างภายในกระทรวงพลังงาน เพื่อจัดตั้งสำนักงานพลังงานจังหวัด 36 จังหวัด |
. |
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มว่า การบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศไทยในอนาคต ที่กระทรวงพลังงานจะพยายามดำเนินการต่อไป คือ การกำกับดูแลกิจการพลังงาน ให้เป็นอิสระแยกออกจากกำหนดนโยบาย การส่งเสริมระบบผลิตพลังงานและการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การส่งเสริมให้กิจการลงทุนด้านพลังงานเป็นที่น่าสนใจ และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวทางการติดฉลากบอกประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในอุปกรณ์ไฟฟ้า รถยนต์ และบ้านที่อยู่อาศัย การส่งเสริมระบบงานวิจัยด้านพลังงานให้เป็นระบบยิ่งขึ้น ตลอดจนการกำหนดโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศให้เหมาะสมและเป็นธรรม |
. |
สำหรับผลงานของกระทรวงพลังงาน ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สามารถแบ่งออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ 1.) การปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงานให้เหมาะสม ด้วยการแก้ไขกฎหมาย/ สัญญา เพื่อวางรากฐานในระยะยาว อาทิ การแก้ไขกฎหมายพลังงาน 6 ฉบับ (บังคับเป็นกฎหมายแล้ว 5 ฉบับ) การออกพระราชกฤษฏีกา กำหนดอำนาจสิทธิ และประโยชน์ของ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 การยกร่างกฎหมายใหม่ 1 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นที่ผ่านการรับหลักการในวาระที่ 1 จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเข้าสู่การพิจารณาตรวจในขั้นกรรมาธิการแล้ว การแก้ไขสัญญาขยายและประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันของ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อนำไปสู่การนำหุ้นสามัญของบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และกระจายหุ้นสู่สาธารณะชนได้ภายในต้นปี 2551 เป็นต้น |
. |
2.) การจัดหาพลังงาน เพื่อความมั่นคงของประเทศ ผลงานที่สำคัญ อาทิ อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP 2007 และแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว สรุปผลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 19 พร้อมทั้งออกสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 20 การต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมตามแหล่งปิโตรเลียม จากแหล่งก๊าซ U123 และแหล่งก๊าซบงกช ขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จาก 3,000 เมกะวัตต์ เป็น 7,000 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) และอยู่ระหว่างกำลังลงนาม รวม 6 โครงการ การออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า IPP SPP และ VSPP ตลอดจนการเตรียมแผนงานเพื่อเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต |
. |
3.) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ ได้แก่ การจัดสรรเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลิตรละ 70 สตางค์ เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงการด้านระบบขนส่งมวลชนระบบราง และระบบน้ำ ริเริ่มการอนุรักษ์พลังงานโดยการประมูลแข่งขัน (DSM Bidding) การกำหนดมาตรการประหยัดพลังงานทั้งภาครัฐ และเอกชน แนวทางการออกกฎกระทรวงกำหนดประสิทธิภาพสูง และเร่งติดฉลากประสิทธิภาพพลังงาน การปรับแผนและกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานของประเทศ และการรณรงค์เปลี่ยนหลอดไส้เป็นหลอดตะเกียบ(CFL) เบอร์ 5 ทั่วประเทศ |
. |
4.) การพัฒนาพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับประเทศ ผลงานที่สำคัญ ได้แก่ การเร่งรัดโครงการพลังงานทดแทน อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กระดับชุมชน การผลิตขยะเป็นพลังงาน การนำน้ำเสียผลิตเป็นพลังงาน โดยการสร้างแรงจูงใจด้วยการกำหนดส่วนเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือ Adder การขยายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ภายใต้ระเบียบ SPP และ VSPP ตลอดจนการส่งเสริมการผลิตและใช้เอทานอล แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล และ NGV ซึ่งได้ทำให้มียอดการใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นถึง 5.2 ล้านลิตรต่อวัน(จากช่วงต้นปีที่มียอดใช้เพียง 3 ล้านลิตรต่อวัน) และไบโอดีเซลมียอดใช้เพิ่มขึ้น 2 ล้านลิตรต่อวัน (จากที่มีการใช้เพียง 0.1 ล้านลิตรต่อวัน) |
. |
5.) การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการ ลดหนี้กองทุนน้ำมันมาอย่างต่อเนื่อง จนคาดว่าจะลดหนี้กองทุนน้ำมันได้หมด ภายในสิ้นปี 2550 นี้ แนวทางการปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ตลอดจนการปรับโครงสร้างราคา เอทานอล ไบโอดีเซล และ NGV ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง |
. |
6.) การผลักดันพลังงานสะอาด ผลงานที่สำคัญ ได้แก่ การออกระเบียบจัดการไอระเหยน้ำมัน (VRU) ในคลังน้ำมัน รถขนส่ง และสถานีบริการน้ำมัน การกำหนดมาตรฐานน้ำมัน เชื้อเพลิงให้เป็นมาตรฐาน EURO 4 (ในอีก 5 ปีข้างหน้า) พร้อมสร้างแรงจูงใจสำหรับโรงกลั่นที่ดำเนินการตามมาตรฐานได้ก่อนกำหนด รวมทั้งร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำร่างค่ามาตรฐาน ควบคุมการปล่อยทิ้งไอเสียสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ (Emission Standard) เพื่อกำหนดเป็นเงื่อนไขการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผน PDP 2007 รวมทั้งการผลักดันกลไกการพัฒนาพลังงานที่สะอาด (CDM) จำนวน 15 โครงการที่ช่วยบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย |
. |
7.) การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการวางแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ขยายผลการจัดทำแผนพลังงานชุมชน 80 ชุมชน ในทุกจังหวัดทั่วประเทศในปี 2550 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา วางแนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เพื่อนำประโยชน์มาสู่ชุมชนและประชาชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า และพัฒนาท้องถิ่น ที่อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า การจัดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับแผนงานด้านพลังงานต่างๆ ในวงกว้าง ตลอดจนการสนับสนุนเทคโนโลยีระดับชุมชน เช่น ไบโอดีเซลชุมชน และระบบก๊าซชีวภาพ เป็นต้น |