เทรนด์ไมโคร อินคอร์ปอเรท ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชันรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ สรุปผลประกอบการประจำปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยสามารถทำยอดขายได้เติบโตตามเป้าในทุกภาคอุตสาหกรรม (Cross Industry) เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ใช้งาน (User Protection) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ Network Security ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจระดับกลางจนถึงกลุ่มธุรกิจระดับเอ็นเตอร์ไพรส์ กลุ่มธุรกิจด้านการเงิน และภาครัฐ สำหรับปี 2561 บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มบุคลากร พร้อมทั้งอัปเดตและอบรมให้ความรู้แก่บริษัทตัวแทนจำหน่ายและบริษัทคู่ค้าให้มีความเชี่ยวชาญเพื่อสามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าและตลาดได้มากยิ่งขึ้น
คุณปิยธิดา ตันตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าในปีที่ผ่านมาภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์มีความรุนแรงและน่ากลัวมากกว่าในอดีต ตัวอย่างเช่น ภัยคุกคามด้านแรนซั่มแวร์นั้นในแต่ละเดือนมีตระกูลใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากถึง 27 สายพันธุ์ แม้ว่าจะมีการป้องกันแล้วแต่ก็ยังหลุดรอดเข้าผ่านทางช่องโหว่ต่าง ๆ ทำการเข้ารหัสเครื่องเอนด์พอยต์อย่างรวดเร็วเพียงแค่ 60 วินาที เชื่อว่าในปี 2561 จะยังคงความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ส่วนการโจมตีในแบบ BEC (Business Email Compromise) ก็รุนแรงไม่แพ้กัน สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปแล้วเกินกว่า 9 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในปี 2561 พวกอาชญากรทางไซเบอร์เหล่านี้จะเพิ่มวิธีการใหม่ เช่น การโจมตีแบบ BPC (Business Process Compromise) ขึ้นมาอีก ส่วนประเด็นด้านช่องโหว่นั้นพบว่าเมื่อปีที่ผ่านมามีช่องโหว่ต่าง ๆ มากมายถูกค้นพบกว่า 1,000 รายการ โดยเฉพาะช่องโหว่ที่น่ากลัวไม่ว่าจะเป็นช่องโหว่แบบ Zero Days, ช่องโหว่ที่สัมพันธ์กับระบบ SCADA และช่องโหว่ในเว็บบราวเซอร์ต่าง ๆ เป็นต้น ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมาเทรนด์ไมโครได้เสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมการป้องกันเพิ่มเข้าไปมากมาย อาทิ เทคโนโลยีแมชีน เลิร์นนิ่ง (Machine Learning) ที่นำไปติดตั้งอยู่ในทุก ๆ โซลูชันหลักของผลิตภัณฑ์เทรนด์ไมโคร ช่วยสร้างระบบความปลอดภัยอัจฉริยะในการจัดการกับภัยคุกคามทั้งแบบที่รู้จัก (Known Threat) และแบบไม่รู้จัก (Unknown Threat) ได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น
สำหรับในปี 2561 เทรนด์ไมโครได้เตรียมนำเสนอเทคโนโลยีด้านการป้องกันภัยรุ่นใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 3 เทคโนโลยีหลักด้วยกัน ประกอบด้วย Connected Threat Defense หรือ CTD ซึ่งเป็นแนวคิดในการป้องกันภัยที่เชื่อมโยงและผสานระบบความปลอดภัยต่าง ๆ ได้มากขึ้นกว่าเดิม ช่วยให้องค์กรสามารถมองเห็นระบบได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถป้องกัน ตรวจสอบ และตอบสนอง ภัยคุกคามได้อย่างทันท่วงที กลุ่มที่ 2 จะเป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องระบบบนคลาวด์หรือ Security on Cloud โดยผลิตภัณฑ์ของเทรนด์ไมโครสามารถที่จะช่วยปกป้องความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานได้ทั้งระบบที่รันบน AWS หรือ Azure นอกจากนั้นแล้วยังสามารถปกป้องลงไปถึงระดับแอปพลิเคชัน เช่น Office 365 และ Google เทคโนโลยีที่ 3 ก็คือกลุ่มผลิตภัณฑ์จาก TippingPoint ในตระกูล TX Series ที่เป็นเทคโนโลยี Next Generation Intrusion Prevention System (หรือเรียกว่า Next-Gen IPS) มีความเหนือชั้นในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันเทรนด์ไมโครดำเนินการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านทางตัวแทนจำหน่ายที่มีผู้เชี่ยวชาญให้บริการ โดยมีตัวแทนจำหน่ายหลัก (Distiributor) 3 ราย ได้แก่ บริษัท nForce Secure, บริษัท Netpoleon Thailand และบริษัท SIS Distribution รวมถึงมีบริษัทคู่ค้า (Partner) อีกเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2561 ทางเทรนด์ไมโครจะเข้าไปเพิ่มศักยภาพของตัวแทนจำหน่ายให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนและอัปเดตความรู้ด้านเทคโนโลยีของเทรนด์ไมโครให้มีความชำนาญและเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น และยังพร้อมที่จะเปิดรับคู่ค้าใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง