เนื้อหาวันที่ : 2018-02-22 13:46:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1303 views

ดีป้าดึงนักธุรกิจญี่ปุ่นจับมือร่วมเครือข่ายพันธมิตรไอโอที

ที่หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok หรือ JCC) ถนนวิทยุ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำทีมผู้บริหารโครงการดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ เข้าพบ นายมานาบุ คาฮาระ ประธานชมรมกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ เชิญชวนนักธุรกิจญี่ปุ่นจับมือเข้าร่วมเครือข่ายพันธมิตรไอโอทีแห่งประเทศไทย หรือ ไอโอที อลิอันซ์ (IoT Alliance)

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้รับมอบหมายจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสร้างอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต และจัดทำแผนงานจัดตั้งสถาบันไอโอที (IoT Institute) ให้เป็นศูนย์ทดสอบเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับอุปกรณ์และระบบอัจฉริยะภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) รองรับความต้องการของนักลงทุนภายในเขตส่งเสริมฯ  โดย สถาบันไอโอทีดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรไอโอทีแห่งประเทศไทย หรือ ไอโอที อลิอันซ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์ทดสอบนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีดิจิทัลจากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเขตส่งเสริมให้กับสถาบันการศึกษา ธุรกิจขนาดเล็ก และประชาชนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยกลไกการดำเนินงานหลักของสถาบันไอโอทีนอกเหนือจากการมุ่งเน้นให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐแล้ว ยังดำเนินงานภายใต้หลักความร่วมมือ 4 เรื่อง ได้แก่ 1) ร่วมแบ่งปันทรัพยากร (Co-resource) ครอบคลุมถึงการร่วมมือทั้งทางด้านบุคลากร เงินลงทุน เทคโนโลยี และองค์ความรู้ 2) ร่วมออกแบบ (Co-design) ครอบคลุมการร่วมกันออกแบบกิจกรรมขับเคลื่อนภายใต้สถาบันร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน 3) ร่วมเครือข่าย (Co-network) ครอบคลุมการใช้เครือข่ายที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ ขยายให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ และ 4) ร่วมสร้างคุณค่า (Co-create value) ครอบคลุมความร่วมมือในการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลที่เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 ผ่านโครงการขับเคลื่อนภายใต้สถาบันไอโอที

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า กล่าว “ดีป้าและหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ มีการหารือถึงความร่วมมือภายใต้การทำงานของไอโอที อลิอันซ์ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมกว่า 40 หน่วยงาน วันนี้ประเด็นหารือยังรวมถึงสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นจะได้รับ และ สมาร์ทวีซ่า หรือมาตรการเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะและเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ คือ สามารถอาศัยในประเทศไทยได้ 4 ปี โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน สมาร์ทวีซ่า แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.Smart T (Talent) ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง ที่จะเข้ามาทำงานในบริษัททางด้านดิจิทัลหรือกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย 2.Smart I (Investor) นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของประเทศ 3.Smart E (Executive) ผู้บริหารระดับสูงในบริษัทหรือองค์กรทางด้านดิจิทัล และองค์กรในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4.Smart S (Startup) ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นโดยสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านดิจิทัลตลอดจนนวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย และ 5.Smart O (Other) คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย เราคาดว่าจะเกิดความร่วมมือดี ๆ ระหว่างดีป้าและหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพในฐานะ ไอโอที อลิอันซ์เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาด้านไอโอทีและเศรษฐกิจดิจิทัลในภาพรวมของประเทศไทยต่อไป”