ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น: ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอุปทูตเชิดชาย ไช้ไววิทย์ ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และ National Agriculture and Food Research Organization (NARO) ประเทศญี่ปุ่น โดย Dr. Akihiro Sasaki รองประธานที่ปรึกษาอาวุโส NARO เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืนของทั้ง 2 ประเทศ
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และเป็นครัวของโลก แต่เนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดเดาได้ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรทั้งคุณภาพและปริมาณลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด การปรับปรุงพันธุ์พืชตามวิธีการดั้งเดิมนั้นใช้ระยะเวลานานและแรงงานสูงในการพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะตามต้องการ ดังนั้น การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปรับปรุงพันธุ์พืช จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถปรับปรุงลักษณะที่ต้องการในพืชได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ โดยการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของประเทศไทยไทยและประเทศญี่ปุ่นที่จะร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเกษตรและอาหารของทั้ง 2 ประเทศ โดยการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่ผ่านมาของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งความร่วมมือด้านเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนข้อมูลงานวิจัย และการแลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัย เพื่อร่วมกันพัฒนาความยั่งยืนด้านอาหารและการเกษตรต่อไป”
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ NARO ในครั้งนี้ครอบคลุมงานวิจัยในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านพืช สัตว์ อาหาร เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนำร่องจะเน้นเกี่ยวกับเรื่องพืชเป็นอันดับแรก โดยจะจัดทำโครงการวิจัยร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนนักวิจัย เพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการปรับแต่งจีโนมในพืชกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น กล้วยไม้ ให้มีประสิทธิภาพและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น รวมถึงการจัดการประชุมวิชาการและประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยเชิญนักวิจัยหลักจาก NARO มาเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ (Keynote Speaker) รวมถึงการจัดสมาคม (Consortium) เพื่อประเมินความก้าวหน้าของงานปรับแต่งจีโนมในประเทศไทยโดยมี สวทช. เป็นศูนย์กลาง”
“โครงการความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อโครงการปรับปรุงพันธุ์พืชในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ รวมถึงสามารถนำกระบวนการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับพืชอื่นๆ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปมากในปัจจุบัน อีกทั้ง ยังสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเทคนิคในการศึกษาตำแหน่ง หน้าที่ และกลไกการทำงานของยีนเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ เพื่อยกระดับการปรับปรุงพันธุ์พืชแนวอณูวิธี หรือ Molecular Breeding (คือเป็นการศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างและการทำงานของหน่วยพันธุกรรมในระดับโมเลกุล) ใช้องค์ความรู้ด้านลำดับเบสจีโนมที่เกี่ยวข้องโดยการใช้เทคนิคที่เรียกว่าโมเลกุลเครื่องหมาย (Marker-Assisted Selection: MAS) ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมถึงองค์ความรู้และผลงานที่ได้จากงานวิจัยนี้ สามารถต่อยอดและออกไปสู่ภาคเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว