สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) โดยศูนย์ข้อมูลและคาดการณ์เทคโนโลยี เปิดเผยข้อมูลการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย รอบสำรวจประจำปี 2560 เผยตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาทั้งภาครัฐ และเอกชน รวม 113,527 ล้านบาท พร้อมคาดสิ้นปี 64 ลงทุนทะลุ 180,000 ล้านบาท
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. เปิดเผยถึงผลการสำรวจข้อมูลการวิจัยและพัฒนา และกิจกรรมนวัตกรรม รอบสำรวจประจำปี 2560 พบว่า ตัวเลขการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งภาครัฐ และเอกชน เพิ่มขึ้นแตะ 113,527 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี คิดเป็นร้อยละ 0.78 ต่อจีดีพี แบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 82,701 ล้านบาท และการลงทุนของภาครัฐ 30,826 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73 และร้อยละ 27 ตามลำดับ โดยในปี 2559 ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน พบว่ามีการลงทุนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39 คิดเป็นร้อยละ 0.57 ต่อจีดีพี โดยเพิ่มจากปี 2558 ที่ภาคเอกชนมีการลงทุน 59,442 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.43 ต่อจีดีพี สอดคล้องกับตัวเลขจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ (FTE) ที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 17.0 ต่อ ประชากร 10,000 คน และคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายของประเทศที่วางไว้สิ้นปี 2564 ว่าค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาจะเพิ่มเป็นร้อยละ 1.5 ต่อจีดีพี และบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (FTE) จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 25.0 ต่อ ประชากร 10,000 คน
ปัจจัยบวกในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจากรอบปีการสำรวจครั้งนี้ มาจากการตื่นตัวในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น บริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายรายมีการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรม รวมถึงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในภาคการผลิตที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการวิจัยและพัฒนา โดยการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาใน อุตสาหกรรมการผลิต สูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีการลงทุนสูงถึง 15,051 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสูตรอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้สอดคล้องตามความต้องการและพฤติกรรมการบริโภคที่ปรับเปลี่ยนไป รองลงมาคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการลงทุน 11,879 ล้านบาท ในการวิจัยและพัฒนาด้านการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ การพัฒนาชิ้นส่วนรถตัวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทแม่ และเพื่อลดต้นทุนด้านการผลิต และอันดับ 3 คือ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ที่มีการลงทุน 9,251 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้านการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน และการพัฒนาสินค้าใหม่ เช่น สูตรน้ำมันหล่อลื่นใหม่ เป็นต้น ด้านภาคบริการ ที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุด ในปี 2559 คือ บริการทางการเงินและประกันภัย มีการลงทุนสูงถึง 4,891 ล้านบาท มาจากวิจัยและพัฒนาปรับปรุงการบริการใหม่ การพัฒนา Fintech เพื่อนำมาใช้พัฒนาการบริการด้านการเงินให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการผู้บริโภค เช่น โปรแกรม Streaming และ e-payment เป็นต้น รองลงมาคือ การบริการวิจัยและพัฒนา ที่ลงทุนด้วยเม็ดเงิน 4,750 ล้านบาท และบริการไปรษณีย์และโทรคมนาคม ที่ลงทุน 1,983 ล้านบาท ผ่านการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยพัฒนา (Innovation Center) เพื่อให้พนักงานเสนอความคิดสร้างสรรค์ภายใต้บริบท “Internet of Things” และเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการใช้ชีวิตในสังคมดิจิทัลมากขึ้น สำหรับ ภาคค้าปลีกค้าส่ง ที่ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงสุด ในปี 2559 คือ ห้าง ร้านสะดวกซื้อ และร้านของชำ โดยมีการลงุทน 5,070 ล้านบาท จากการวิจัยและพัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าใหม่ และการปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ ทั้งนี้ ในปี 2559 บริษัทไทยมีนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในบริษัทเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 78 โดยส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมทางการตลาด และนวัตกรรมองค์กร
อย่างไรก็ตาม ด้านมาตรการที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐสนับสนุน โดยจำแนกตามขนาดกิจการ คือ ผู้ประกอบการทุกขนาดกิจการต้องการให้ภาครัฐจัดอบรมให้ความรู้ด้านวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมใหม่ ๆ ส่วนกิจการขนาดใหญ่ ต้องการให้ภาครัฐช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวสาร และลดขั้นตอนการติดต่อ และกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ต้องการการสนับสนุนด้านการเงินในการทำวิจัย
“ถึงแม้ผลการสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.78 ต่อจีดีพี แต่เมื่อเทียบกับบริบทประเทศที่มีกับขับเคลื่อนด้านนวัตกรรม เช่น เกาหลีใต้ เยอรมนี หรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากถึงร้อยละ 3-4 ต่อจีดีพีแล้ว ประเทศไทยยังแตกต่างอยู่มาก แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจครั้งนี้ยังนับเป็นนิมิตรหมายที่ดี และนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเกินแสนล้านบาท และบุคลากรวิจัยเกินแสนคน อีกทั้งประเทศไทยยังมีการตั้งเป้าหมายเรื่องการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งภาครัฐและเอกชนให้ได้ร้อยละ 1.5 ของจีดีพี หรือ 180,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2564 จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องมีมาตรการกระตุ้นให้เอกชนมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้นผ่านนโยบายต่างๆ เช่น Economic Zone for Innovation, BOI Privileges for RDI Investment และ Smart Visa เป็นต้น เพื่อทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) และนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0” ดร.กิติพงค์ กล่าวทิ้งท้าย