กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เตรียมจัดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2561 หรือ NAC2018 (แนค 2018) อย่างยิ่งใหญ่ โชว์ศักยภาพผลงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ที่ตอบโจทย์ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาประเทศ พร้อม “เปิดบ้าน” อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จูงมือ “นักลงทุน” ชมห้องปฏิบัติการวิจัยและหน่วยงานทดสอบมาตรฐานที่ทันสมัยระดับโลก หนุน “สตาร์ทอัพ” พร้อมบริการให้คำแนะนำฟรีเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) อย่างแท้จริง
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล (ซ้าย) ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล (ขวา) ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ในฐานะประธานจัดงานฯ ร่วมแถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2561 (NSTDA Annual Conference: NAC2018) ภายใต้หัวข้อ “ตอบโจทย์ประเทศไทยด้วยงานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น” จะจัดขึ้นวันที่ 9-13 มีนาคม 2561 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ในฐานะเป็นหน่วยวิจัยและพัฒนาของประเทศผ่านการทำงานของ 4 ศูนย์แห่งชาติ และบริหารจัดการเพื่อนำงานวิจัยไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สตาร์ทอัพ เกษตรกร และอุตสาหกรรม พร้อมสร้างความเชื่อมั่นว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวข้ามขีดจำกัดและมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญของประเทศ โดยในงานประชุมวิชาการในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ตอบโจทย์ประเทศไทยด้วยงานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น” ที่ สวทช. มุ่งเน้นไปยัง 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการนำเสนอในรูปแบบของการสัมมนาแบบเจาะลึกและการจัดแสดงนิทรรศการโดยนักวิจัยเจ้าของผลงาน
“สำหรับคำว่า “ประเด็นมุ่งเน้น” นั้น คือ สวทช. จะทำงานอย่างมุ่งเป้า โดยเน้นส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งอย่างครบวงจร เริ่มจากฐานเกษตรกรรม และความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นข้อได้เปรียบของประเทศ เกิดเป็น นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน โดยผลผลิตการเกษตรที่ปลูก จะนำไปสู่ นวัตกรรมด้านอาหาร รวมไปถึงการปรับปรุงคุณภาพผ่านงานวิจัยขั้นสูงที่เป็น นวัตกรรมการแพทย์ ทั้งนี้ของเสียจากระบบทั้งหลายในเกษตรกรรม ยังสามารถนำไปสู่ นวัตกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและสารมูลค่าสูง บางอย่าง จนไม่เหลือของเสียใดๆ ในระบบสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สวทช.ยังเตรียมความพร้อมของบุคลากรและความรู้สำหรับ ระบบขนส่งสมัยใหม่ อีกทั้งยังมีตัวอย่างความสำเร็จที่จับต้องได้จากการนำนวัตกรรมที่เหมาะสมลงสู่พื้นที่ชุมชนทั่วทุกภูมิภาค ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานที่ออกแบบอย่าง “มุ่งเป้า” เพื่อเสริมความเข้มแข็งและเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน”
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า สำหรับ“งานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น” สวทช. ได้ดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ของ สวทช. ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2560-2564) โดยให้ความสำคัญกับการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) อาหารเพื่ออนาคต เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) ระบบขนส่งสมัยใหม่ ที่มีเป้าหมายต่อยอดเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนระบบราง และอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับและชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น 3) การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนไทย เพื่อพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ สุขภาวะของผู้สูงอายุ ผู้พิการ กับบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุขของประเทศ 4) เคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ โดยมุ่งสร้างอุตสาหกรรมชีวเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นจุดแข็งของประเทศ และ 5) นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน ที่จะพัฒนาพันธุ์พืชให้มีผลผลิตสูง มีคุณค่าทางโภชนาการและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตและมีรายได้ดีขึ้น ส่วนผู้บริโภคก็มีอาหารที่ปลอดภัยและมีสุขภาพดี ซึ่ง สวทช. จะใช้ศักยภาพของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ขับเคลื่อนทุกภาคส่วนเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ และผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ในฐานะประธาน จัดงาน NAC2018 กล่าวว่า สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการประชุมฯ ในวันที่ 9 มีนาคม 2561 เวลา 09.00-12.00 น. ภายในงานจะมีการสัมมนาที่น่าสนใจจากผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่า 40 เรื่อง โดยมีทั้งเรื่องราวความรู้ของ 5 ประเด็นวิจัยมุ่งเน้นที่ สวทช. ดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ของประเทศ มีตัวอย่างผลงานวิจัย ได้แก่ ระบบเครือข่ายการผลิตแผ่นรองฝ่าเท้าเฉพาะบุคคลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยศูนย์เอ็มเทค และเนคเทค ที่ได้นำเทคโนโลยีสแกน 3 มิติ และซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์การกระจายน้ำหนักของฝ่าเท้าเพื่อนำข้อมูลไปออกแบบแผ่นรองฝ่าเท้าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีความละเอียดและตรงตามรูปเท้าของแต่ละบุคคลมากขึ้น รวมทั้งสร้างระบบเครือข่ายในการบริหารข้อมูลพื้นฐานต่างๆเพื่อให้การบริการผลิตแผ่นรองฝ่าเท้าเฉพาะบุคคลอย่างมีมาตรฐานและคุณภาพที่ดีได้อย่างทั่วถึง นวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อม ทั้งนี้ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุสำคัญของกลุ่มอาการสมองเสื่อมและคาดการณ์ว่า ในปี 2573 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,117,000 คน เอ็มเทค สวทช. ได้ร่วมออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย สมองเสื่อม กับโรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันประสาทวิทยา โดยใช้กระบวนการการออกแบบ Human-centric design ที่เข้าใจบริบทและความต้องการของผู้ใช้ ได้แก่ “เกมฝึกสมอง” (MONICA) สำหรับช่วยกระตุ้นและฝึกสมองผู้สูงอายุ ด้านสมาธิ ความจำ การเรียนรู้ การมองเห็นและตอบสนอง การวางแผนและตัดสินใจ และภาษา อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ “ผ้ากระตุ้นสมอง” (AKIKO) ซึ่งเป็นผ้าห่มที่มีความอ่อนนุ่มและสวยงาม ช่วยทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลาย ลดความกระวนกระวาย กระตุ้นประสาทสัมผัสและความทรงจำที่ดี สามารถใส่รูปภาพหรือกลิ่นหอมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความคุ้นเคยและความชอบของผู้สูงอายุ
นักวิจัยศูนย์เอ็มเทค คิดค้นระบบการผลิตแผ่นรองฝ่าเท้าเฉพาะบุคคล
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน กับผลงานไลโซไซม์ (Lysozyme)
นอกจากนี้ยังมีผลงาน eLysozymeTM (เอนฮานซ์ ไลโซไซม์) จากไข่ขาว ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ร่วมกับบริษัทเอกชน วิจัยและพัฒนาไลโซไซม์ประสิทธิภาพสูงที่สามารถยับยั้งแบคทีเรียได้ดี ครอบคลุมทั้งแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเน่าเสีย แบคทีเรียก่อโรคที่มักพบปนเปื้อนในอาหาร และแบคทีเรียก่อโรคที่มีความสำคัญในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและปศุสัตว์ โดยผลงานวิจัยดังกล่าวอยู่ระหว่างการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่าย ผลงาน ระบบถอดความเสียงพูดแบบทันต่อเวลาผ่านระบบสื่อสารทางไกล โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้คนพิการทางการได้ยินและผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยิน สามารถเข้าใจเนื้อหาข้อมูลในการประชุมสัมมนาหรือรายการโทรทัศน์ได้ ด้วยการอ่านข้อความที่ได้จากการถอดความแบบทันต่อเวลา และผลงาน อิมัลเจลที่มีอนุภาคนาโนที่กักเก็บน้ำมันหอมระเหยไพลและขมิ้นชันเพื่อบรรเทาปวด โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. เป็นการพัฒนาอนุภาคนาโนเพื่อการกักเก็บสารสำคัญทางเภสัชภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีการกักเก็บ (Encapsulation technique) ที่ขนาดของอนุภาคอยู่ในช่วง 100-200 นาโนเมตร โดยเน้นที่กลุ่มของน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดสมุนไพร สำหรับนำไปพัฒนาเป็นสูตรเภสัชภัณฑ์ใช้ภายนอก ซึ่งอนุภาคนาโนกักเก็บน้ำมันหอมระเหยไพลและขมิ้นชันนี้ มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบของกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่ผิวหนัง และด้วยขนาดอนุภาคระดับนาโนทำให้ช่วยลดความเข้มของสีและกลิ่นของสารออกฤทธิ์ สามารถซึมผ่านเข้าสู่ชั้นผิวหนังได้ดี เสริมคุณสมบัติของสารสำคัญที่กักเก็บ และมีความคงตัวเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี จึงเหมาะสำหรับนำไปเตรียมเป็นสูตรตำรับเภสัชภัณฑ์ ไปสู่ระดับอุตสาหกรรมเพื่อการต่อยอดสู่การผลิตได้
เกมฝึกสมอง (MONICA) ผลงานนักวิจัยเอ็มเทค สวทช.
เทคโนโลยีกับกเก็บสารสกัดสมุนไพรอนุภาคนาโน ผลงานนักวิจัยศูนย์นาโนเทค
นักวิจัยศูนย์เนคเทค ผู้ทำการคิดค้นระบบถอดความเสียงพูดแบบทันต่อเวลาผ่านระบบสื่อสารทางไกล
ตลอดการจัดงาน 5 วันนั้น จะให้มีกิจกรรมที่หลากหลายและเข้มข้นไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมเปิดบ้าน สวทช. ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนที่สนใจ ได้เยี่ยมชมผลงานวิจัยที่โดดเด่นและหลากหลายจากศักยภาพของบุคลากรวิจัยและห้องปฏิบัติการ ที่มีเครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยของ สวทช. ทั้งยังมีบุคลากรด้านการพัฒนาธุรกิจที่พร้อมให้คำปรึกษาให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ หรือ S&T Job Fair มหกรรมรับสมัครงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ใหญ่ที่สุดจากบริษัทเอกชนชั้นนำกว่า 120 บริษัท จำนวนกว่า 2,000 ตำแหน่ง อาทิ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่นฯ ไมโครซอฟต์ และ เบทาโกร เพื่อรองรับให้กับผู้ที่ต้องการมองหาตำแหน่งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะน้องๆ ที่เพิ่งจบการศึกษา หรือผู้ที่ต้องการมองหาความก้าวหน้าท้าทายในตำแหน่งงานใหม่ๆ รวมไปถึงการให้คำแนะนำ เรื่องทุนการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนั้นแล้วสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชน สวทช. พร้อมสร้างเสริมกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ให้เยาวชนกับ กิจกรรมสนุกคิดนักวิทย์น้อย ที่ผู้ปกครองสามารถพาน้องๆ มาร่วมสนุกกับกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ สนุกไปกับการลงมือทำ ลงมือทดลองที่หลากหลายในรูปแบบนอกห้องเรียน พร้อมด้วยผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมและชุมชนที่นำมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ที่ www.nstda.or.th/nac
หรือ โทร. 0 2564 8000