สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) เดินหน้าสนับสนุนและเสริมความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ นำ “วิทย์สร้างคน” ผ่านโครงการพัฒนาทักษะผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน หนุนเศรษฐกิจด้วย “วิทย์แก้จน” สร้างอาชีพผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ให้คนรุ่นใหม่และชุมชน และเพิ่มศักยภาพ “วิทย์เสริมแกร่ง” ด้วยผลงานวิจัยนวัตกรรมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะสำหรับปลูกพืชเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญ การผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพส่งผลโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร เมล็ดพันธุ์เป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงและมีผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรและอุตสาหกรรม ซึ่งไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์โลก (Seed Hub) ที่ผ่านมา สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไปเชื่อมโยงและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ เกษตรกร และชุมชนอย่างต่อเนื่อง
“การสร้างคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ สวทช. ได้ดำเนิน โครงการพัฒนาทักษะผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ โดยร่วมกับบริษัทผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์ 6 แห่ง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ บ่มเพาะคนรุ่นใหม่สู่อาชีพผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์และขยายเครือข่ายการผลิตเมล็ดพันธุ์ในชุมชนและเกิดเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกัน จึงเป็นภารกิจวิทย์สร้างคนและวิทย์แก้จนด้วยการสร้างให้เกิดอาชีพผลิตเมล็ดพันธุ์ขึ้น การผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้พื้นที่เพียงน้อยนิด แต่ได้มูลค่ามาก ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทั้งเทคโนโลยีบวกกับความปราณีตของเกษตรกร ไม่เพียงการพัฒนาบุคลากรให้ภาคอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เท่านั้น แต่ยังเกิดความร่วมมือด้านงานวิจัยระหว่าง สวทช. กับบริษัทผู้ประกอบเมล็ดพันธุ์ เพื่อยกระดับการผลิตเมล็ดพันธุ์ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่ง สวทช. โดย สท. และศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ได้นำ เทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะ ถ่ายทอดให้กับบริษัท เชียงใหม่ซีดส์ จำกัด สำหรับการทดลองปลูกพืชเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ โดยใช้เทคโนโลยี IoT (Internet of Thing) ควบคุมสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการปลูกพืช นอกจากนี้ระบบเซนเซอร์ที่ใช้ในโรงเรือนเป็นเซนเซอร์ด้านการเกษตรที่พัฒนาขึ้นให้เหมาะกับการทำเกษตรในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย นับเป็นภารกิจวิทย์เสริมแกร่งที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนให้กับภาคการเกษตรไทย” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
ด้าน นายธณัทชัย ปัญญาฟอง บริษัท เชียงใหม่ซีดส์ จำกัด กล่าวว่า ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลต่อการผลิตและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ การผลิตเมล็ดพันธุ์ในระบบโรงเรือนจึงเป็นทางออกให้กับอุตสาหกรรมผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ ระบบโรงเรือนอัจฉริยะที่ สวทช. พัฒนาขึ้นจะช่วยควบคุมสภาวะแวดล้อมในโรงเรือนให้เหมาะกับการปลูกพืช ช่วยลดความเสี่ยงในการเพาะปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ ซึ่งมองว่าคุ้มค่าที่จะลงทุน เนื่องจากเมล็ดพันธุ์มีมูลค่าทางการตลาดสูง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังร่วมกับ สวทช. ศึกษาวิจัยการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ในโรงเรือนอัจฉริยะ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ประเทศ รวมทั้งจะเป็นเสมือนโชว์รูมเพื่อขยายผลเทคโนโลยีดังกล่าวออกไปสู่บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์อื่น ๆ
ทั้งนี้ ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ เป็นความร่วมมือโดย สวทช. และ บริษัท เชียงใหม่ซีดส์ จำกัด เป็นโรงเรือนที่มีการนำเทคโนโลยีจาก สวทช. ที่ได้พัฒนาและคิดค้นจากทั้ง TMEC/NECTEC และ MTEC ในรูปแบบครบวงจร หรือ Full option เพื่อให้เหมาะสมกับการปลูกพืช และเหมาะกับการทำเกษตรในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่มีความแปรปรวนอันจะส่งผลต่อการผลิตและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งโรงเรือนดังกล่าวเป็นการติดตั้งแบบ น็อคดาวน์ ที่มีข้อดีในเรื่องรอยเชื่อมสมบูรณ์ คุณภาพสูง ความแข็งแรงสูง และประกอบได้ เร็ว ง่าย สะดวก โดยเทคโนโลยีภายในระบบโรงเรือนอัจฉริยะ ประกอบด้วย พลาสติกคลุมโรงเรือนสูตรมัลติฟังก์ชันนอล ระบบควบคุมพัดลมระบายอากาศ ระบบเซนเซอร์แสง ระบบเซนเซอร์อุณหภูมิ ระบบเซนเซอร์อุณหภูมิความชื้นอากาศ ระบบควบคุมม่านและม่านลดแสงอัตโนมัติ ระบบสเปรย์หมอกอัตโนมัติ Cooling Pad (คลูลิ่งแพด) และพัดลม EVAP (อีแว๊ป) ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถตั้งค่าควบคุมต่างๆ ได้ตามเงื่อนไขที่ต้องการ รวมถึงการตั้งค่ารดน้ำ การคำนวณสถิติ และทำงานได้ทันตามเวลา ได้แก่ การตั้งค่าควบคุมอุณหภูมิโรงเรือน การตั้งค่าควบคุมความชื้นอากาศ การตั้งค่าควบคุมความชื้นดิน และการตั้งค่าควบคุมความเข้มแสง
น.ส.วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) กล่าวถึงบทบาทของ สท./สวทช. ในการนำวิทย์สร้างคน แก้จน และเสริมแกร่ง สู่ชุมชน ว่า สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร หรือ สท. เป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช. ที่มีบทบาทเชื่อมโยงนำเทคโนโลยีลงสู่ชุมชน ด้วยกลไกการสร้างเกษตรกรเข้มแข็ง ผ่านการจัดการความรู้ การพัฒนาบุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเชื่อมโยงการผลิตและตลาด โดยนำเทคโนโลยีที่เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาจาก 4 ศูนย์วิจัยแห่งชาติ รวมทั้งเครือข่ายพันธมิตรภายนอกทั้งสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ขยายผลและถ่ายทอดสู่ชุมชน
“สวทช. ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยในเวทีโลก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก แม้ว่าไทยจะส่งออกเมล็ดพันธุ์เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน เป็นอันดับที่ 3 ในเอเชียแปซิฟิค มีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทต่อปี แต่กลไกในการขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การวิจัยและพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง สวทช. จึงมีความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่การประเมินเชื้อพันธุกรรมพืช การปรับปรุงพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาพันธุ์ที่ก้าวกระโดด เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพ การถ่ายทอดเทคโนโลยีควบคู่กับการสร้างคนสู่ภาคการผลิต หรือสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จัดเวทีเจรจาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในตลาดที่สำคัญ เช่น จีน และพม่า สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของไทยเข้มแข็งยิ่งขึ้น และก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของโลก (Seed Hub) ได้” รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการ สท. กล่าว