เนื้อหาวันที่ : 2018-02-12 15:09:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1372 views

กสอ.จับมือ เดลต้า เดินหน้า “กองทุนนางฟ้าปี 3” เล็งปั้น StartUp เพิ่ม อัดฉีดเงินให้เปล่า 4 ล้านบาท

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ บริษัท เดลต้า อิเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย) สานต่อโครงการ “กองทุนนางฟ้า” มอบให้กับ StartUp เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน เพื่อสนับสนุนเงินลงทุนลักษณะให้เปล่า 4 ล้านบาท ในการจัดตั้งธุรกิจสูงสุดรายละไม่เกิน 500,000 บาท ภายใต้ 2 แนวคิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีประหยัดพลังงานผ่านนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี AI

นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยการเร่งผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า “สตาร์ทอัพ (StartUp)” ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มสตาร์ทอัพเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่กำลังเริ่มต้นประกอบธุรกิจ มองหาโอกาสทางการตลาด มีความกล้าคิด ชอบเรียนรู้ที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ และยังมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการช่วยให้การดำเนินธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมกับ บริษัท เดลต้า อิเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย) ในการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่และสตาร์ทอัพ (StartUp) อย่างเป็นรูปธรรม โดยการจัดโครงการ “Angel Fund for Startup” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อให้การสนับสนุนเงินทุนสำหรับการจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบเงินให้เปล่าจำนวน 4 ล้านบาท โดยให้สูงสุดรายละไม่เกิน 500,000 บาท หรือตามขนาดของการจัดตั้งธุรกิจที่เหมาะสม  เพื่อสามารถนำไปเป็นเครื่องมือในการหาโอกาสจัดตั้งธุรกิจและเสริมศักยภาพการประกอบธุรกิจให้มีความก้าวหน้าตามเป้าหมายของแผนงานธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน 

ผู้ประกอบการใหม่ หรือกลุ่ม Startup ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะเป็นฐานของการจ้างงานและการเกิดนวัตกรรมใหม่ ใน 2 ปีที่ผ่านมา กสอ. ได้ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดผู้ประกอบการ Startup ผ่านการสนับสนุนเงินทุน Angel Fund จากบริษัทเดลต้า ทำให้เกิดผู้ประกอบการอยู่ในช่วง Seed Stage (เริ่มขายและมีรายได้) จำนวน 12 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.2 อยู่ระหว่างพัฒนาเพิ่มหรือหาแหล่งเงินทุนเพิ่ม จำนวน 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.8 และมีการพัฒนาต่อยอดกับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนอื่น ๆ จำนวน 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.62 โดยคาดว่าในปีนี้ จะสามารถให้การสนับสนุนเงินทุนได้ไม่น้อยกว่า 30 ราย ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า กลุ่ม StartUp จะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่สามารถทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในเวทีธุรกิจระดับสากลได้อย่างยั่งยืนในอนาคต และ กสอ.จะคอยเป็นพี่เลี้ยงดูแลติดตามผู้ที่ได้รับเงินจากกองทุนฯ ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยในปีนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีมาตรการด้านการเงินที่สนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ที่มีนวัตกรรม ผ่านสินเชื่อ Micro SMEs วงเงิน 8,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1 % วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท อีกทั้งยังมีศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) อยู่เกือบ 23 แห่ง ทั่วประเทศ ที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถยืนได้ด้วยตนเองและประสบความสำเร็จได้ต่อไป

ด้าน นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทฯ เห็นถึงความสำคัญของสตาร์ทอัพที่มีการวางแผนทางธุรกิจที่ดี แต่ยังขาดเงินทุนสนับสนุนในการจัดตั้งธุรกิจให้เกิดขึ้น จึงร่วมมือกับ กสอ. เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันและความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจ ได้มีโอกาสนำเสนอแผนโครงการลงทุนเพื่อจัดตั้งธุรกิจ โดยการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อต่อยอดการทำธุรกิจให้เป็นจริง มีศักยภาพในการแข่งขัน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2561 บริษัทฯ ได้เตรียมงบประมาณกว่า 4 ล้านบาทไว้ในส่วนของกองทุนเพื่อสนับสนุนการเริ่มต้นธุรกิจ ภายใต้ 2 แนวคิด คือ 1.Green Solution For Thailand 4.0 การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management) นวัตกรรมด้านการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้านการบริหารจัดการของเสีย (Waste management) หรือ ด้านอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และแนวคิดที่ 2.Advancing Thailand’s Industry with AI Solution การนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามาใช้ในธุรกิจและสามารถ นำมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดรูปแบบทางธุรกิจใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรม ด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชีวิตของคน และเทคโนโลยีที่มาคู่กับ AI

“บริษัทฯ ยินดีสนับสนุนทุนทรัพย์แบบให้เปล่าเพื่อกระตุ้นให้สตาร์ทอัพเริ่มต้นในสิ่งที่คิดมา และพร้อมแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ด้านธุรกิจให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อต่อยอดการทำธุรกิจให้เป็นจริง เพื่อทำให้สตาร์ทอัพแจ้งเกิดและเติบโต มีศักยภาพในการแข่งขัน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา โดยเงินทุนก้อนนี้ไม่ได้ต้องการการรีเทิร์น แต่หวังว่าจะสามารถสร้างสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต”

ขณะที่ นายสามารถ ฉันท์แต่ง เจ้าของกิจการ บ้านแดดดี (บริษัท แดดี เพาเวอร์ กรุ๊ป จำกัด) ผู้ซึ่งได้รับเงินจากกองทุน Angel Fund ปี 2559 เปิดเผยว่า แนวคิดธุรกิจของบ้านแดดดี เริ่มต้นจากการเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบปั๊มน้ำโซล่าเซลล์บ้านแดดดีอ่างทอง โดยสอนทั้งความรู้ในเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับการทำงานของระบบปั๊มน้ำโซล่าเซลล์ การออกแบบและติดตั้งระบบปั๊มน้ำโซล่าเซลล์ รวมทั้งการลงมือปฏิบัติเพื่อทดลองติดตั้งที่หน้างานจริง ซึ่งจากการเข้ามาร่วมโครงการได้รับคำแนะนำให้มีการจำหน่าย ผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมด้วย เพื่อให้แหล่งรายได้ของธุรกิจมีความมั่นคงมากขึ้น  โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลักอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.Control ปั๊มน้ำรุ่น Mini มีทั้งหมด 6 รุ่น 2.Control ปั๊มน้ำ Series A ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้กับงานประปาหมู่บ้าน และเกษตรกรทั่วไป และถือว่าเป็นรุ่นแรกที่ได้รับโอกาสจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ทำให้ธุรกิจเติบโตมาถึงทุกวันนี้

ผู้สนใจส่งผลงานแนวคิดธุรกิจแผนงานโครงการลงทุน ในรูปแบบ Cilp Vdo ความยาวไม่เกิน 5 นาที หรือเป็น Power Point ไม่เกิน 10 หน้า ลงสมัครออนไลน์ที่ http://angelfund.dip.go.th โดยแนวคิด “Green solutions for Thailand 4.0” สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2561 โดยจะประกาศผลวันที่ 2 มีนาคม 2561 และแนวคิด“Advancing Thailand's Industry with AI solution” สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 22 เมษายน 2561 โดยจะประกาศผลวันที่ 30 เมษายน 2561