กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย สวทช.ภาคเหนือ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) จัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ สวทช.ภาคเหนือ ประจำปี 2561 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เป็นประธานเปิดงาน และ นายชูชีพ พงษ์ไชย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ ภายใต้ชื่องาน “นวัตกรรมเพื่อชุมชน สู่สังคมแห่งการแบ่งปันความรู้” เสริมแกร่งรุกหน้าตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยแนวคิด NSTDA Beyond Limits หรือ “นวัตกรรมเหนือคาดหมาย พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย 4.0” มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเสริมแกร่งสร้างผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ สวทช. และพันธมิตร การบรรยายพิเศษ การเสวนา เพื่อถ่ายทอดแนวคิดประสบการณ์การพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) รวมทั้งการมอบรางวัลผญาดีศรีล้านนาประจำปี 2561 เพื่อเป็นการยกย่องบุคคลต้นแบบผู้นำเอา วทน. ไปเป็นเครื่องมือในการคิดค้นหรือต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งดำเนินนโยบายตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ผลิตผลงานวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการนำ วทน. มาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้เกิดเศรษฐกิจนวัตกรรม ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเครือข่ายพันธมิตรในพื้นที่ทุกภาคส่วนคือ หัวใจสำคัญที่ต้องร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกัน พัฒนาผลงานวิจัยและถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) โดย สวทช.ภาคเหนือ เป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของ สท. มุ่งมั่นทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อชุมชน รวมทั้งให้บริการกลไกการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง สร้างความมั่นคงมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืน
สำหรับในปีนี้มีผู้ให้ความสนใจลงทะเบียนร่วมงานประชุมประจำปีของ 2561 สวทช.ภาคเหนือ มากกว่า 900 ราย ผลงานที่มีการสนับสนุนทุนวิจัยรวมถึงเชื่อมโยงทุนวิจัยพัฒนาและวิศวกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาท้องถิ่นจำนวน 9 ทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยสู่เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือกว่า 69 ครั้ง ใน 62 หมู่บ้าน มีเกษตรกรได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีไม่น้อยกว่า 2,300 คน พัฒนาบุคลากรทั้งเกษตรกรแกนนำ เจ้าหน้าที่ส่งเสริม และผู้ประกอบการ กว่า 130 ราย ให้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม ผ่านโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP จำนวน 78 โครงการ กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 4 ค่าย และเกิดมูลค่าการลงทุนรวมถึงผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมทั้งในภาคชุมชนและภาคอุตสาหกรรมกว่า 359.13 ล้านบาท จากการเก็บข้อมูล 147 โครงการในปีที่ผ่านมา
สำหรับงานประชุมประจำปี 2561 สวทช. ภาคเหนือ มีกิจกรรมหลักได้แก่ การมอบรางวัลผญาดีศรีล้านนา เพื่อเป็นการยกย่องคุณงามความดี เชิดชูนวัตกรรมชาวบ้าน ที่มีการต่อยอดภูมิปัญญาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้นแบบที่ดีในการขยายผลโดยตัวแทนในชุมชน โดยในสาขาเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ นางมุทิตา สุวรรณคำซาว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสันมหาพนสมุนไพรอินทรีย์ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และสาขาศิลปหัตถกรรมและวัฒนธรรม ได้แก่ นางยุพิน สายสำเภา ประธานศูนย์การเรียนรู้ชุมชน กลุ่มทอผ้าไทยพวน บ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโอ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
นอกจากนี้ ยังมีการมอบโล่ให้แก่เครือข่ายพันธมิตรที่ได้ร่วมจัดค่ายวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความตระหนักแก่เยาวชนให้สนใจในเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กิจกรรมการบรรยายพิเศษเรื่อง “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พลังขับเคลื่อน Northern4.0” โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช., การนำเสนอผลงานวิจัย พัฒนาและวิศวกรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น, การเสวนาหัวข้อ “คอสเมติกไทยดาวรุ่ง มุ่งตลาดโลก” (Thai Herb Cosmetics : Open to the World) แนวทางการเพิ่มมูลค่าและความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องสาอางสมุนไพรไทย ปัจจัยที่จะให้เกิดความสำเร็จ กรณีศึกษาจากผู้ประกอบการ, “ผู้ประกอบการเกษตรยุคใหม่ ก้าวไกลด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”, “การพัฒนาเครื่องจักรทางการเกษตร: The Food Automation & Manufacturing”, “ระบบพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบนำชมพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นต้นแบบสนับสนุนการท่องเที่ยวในชุมชน” และ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาชุมชน ร่วมกับ ครู กศน.” รวมถึงการแนะนำ “โครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand หรือโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดโอกาสใหม่ของธุรกิจ SMEs” ที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และผู้ริเริ่มธุรกิจหรือสตาร์ทอัพ ได้คิดค้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาดของประเทศไทย พร้อมด้วยนำเสนอกลไกและบริการของ สวทช. สำหรับภาคนักวิจัย ภาคชุมชน และภาคเอกชน รวมถึงนิทรรศการเปิดบ้านเทคโนโลยี สวทช.ภาคเหนือ การคัดสรรเทคโนโลยีจากงานวิจัยกว่า 30 ผลงาน ที่พิสูจน์แล้วว่านำมาใช้แก้ปัญหาในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง การแสดงผลงานจากตัวอย่างเกษตรกรและชุมชนที่นำ วทน. ไปทดลองปฏิบัติ พัฒนาต่อยอดจนสำเร็จ และเสริมสร้างเป็นอาชีพของชุมชนหรือตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมถึงผลงานจากเยาวชนค่ายวิทยาศาสตร์ การจำหน่ายสินค้าและหนังสือจากการวิจัยผ่านกิจกรรมศูนย์หนังสือสัญจรและตลาดชาววิทย์