เนื้อหาวันที่ : 2018-02-06 11:31:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1292 views

รี้ดฯ หนุนไทยแลนด์ 4.0 ปรับโฉม ME ใหม่รับตลาดทุกมิติ

รี้ด เทรดเด็กซ์ หนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ปรับโฉม ME (Manufacturing Expo 2018) สู่โซลูชันแพลตฟอร์มเพื่อการผลิตครบวงจร รับกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่ยุค 4.0 ชู MExperience สร้างประสบการณ์ใหม่ เชื่อมโยงเทคโนโลยี หนุนผู้ประกอบการไทยใช้จุดแข็งฐานการผลิตคุณภาพสร้างเครือข่ายพันธมิตรอาเซียน ชิงฐานการผลิตรถยนต์แห่งอนาคตและหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ งาน ME จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 23 มิถุนายนนี้ ณ ไบเทค บางนา

นายดวงเด็ด ย้วยความดี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เผยว่าการจัดงาน ME (เอ็มอี) ในปีนี้เกิดจากแนวโน้มของการปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นการผลิตที่เชื่อมโยงกันทั่วโลกแบบไร้ระยะทาง รี้ดฯ พร้อมตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติในไทยแลนด์ 4.0 เดินหน้าสนับสนุน 6 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve Industries) คือชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ครบวงจร และการแปรรูปอาหาร โดยเปิดเวทีสัมมนา MExperience ให้ผู้เข้าชมงานได้ร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่กับเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย คำตอบในการเปลี่ยนแปลงขบวนการผลิต และการผลิตชิ้นส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มที่จะเกิดขึ้นในงาน ME 2018

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่ามุมมองการวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกและอาเซียนที่เชื่อมโยงประเทศไทย จากการประเมินตัวเลขจีดีพีและดัชนีเศรษฐกิจของไทยและของโลกในปี 2561 เศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจโลกคาดเติบโตอยู่ที่ระดับ 3.1% เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาขยายตัวได้ในระดับ 2.5% จากตลาดแรงงานฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและการลงทุนของภาคเอกชน ค่าเงินดอลลาร์จะกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก แนวโน้มดังกล่าวส่งผลดีต่อภาคส่งออกไทยและการลงทุนโดยตรงของสหรัฐอเมริกาในไทย โดยเฉพาะภาคการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 5.3% จากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและสินค้าภาคการเกษตร ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะมีการส่งออกในปีนี้ขยายตัว 7-8% โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มสดใสในปีนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมค้าปลีกอีคอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว บริการทางการแพทย์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

"จากยุทธศาสตร์ชาติไทยแลนด์ 4.0 โดยอุตสาหกรรมใหม่และพัฒนาอุตสาหกรรมเก่า 5+5 ให้เป็นอุตสาหกรรมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะ 20 ปีข้างหน้า ภาครัฐมุ่งหวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือภายในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยควรจะมีโรงงานที่ใช้หุ่นยนต์แขนกลไม่น้อยกว่า 70,000 โรงงานจากจำนวนโรงงานทั้งหมด 140,000 โรงงาน ในช่วงปี 2559 – 2560 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการนำเข้าหุ่นยนต์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยประมาณปีละ 3,500 ตัว ในขณะที่ปี 2561 คาดการณ์ว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และอิเล็กทรอนิกส์จะนำหุ่นยนต์แขนกลมาใช้มากที่สุด" นายดวงเด็ดกล่าวเพิ่มเติม

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรม 4.0 งาน ME 2018 ภายใต้แนวคิดที่พัฒนาสู่การนำเสนอโซลูชันใหม่ในรูปแบบของแพลตฟอร์มการเชื่อมโยงเทคโนโลยีแทนการนำเสนอเครื่องจักรเดี่ยว ๆ แบบในอดีต โดยจะเป็นเวทีกลางให้กับเจ้าของเทคโนโลยีค่ายต่าง ๆ ได้ร่วมกันจัดทำเทคโนโลยีต้นแบบ นำเสนอแก่ผู้ประกอบการให้ เข้าใจ เข้าถึง และเข้าใช้งาน เสมือนการผลิตจริง ซึ่งจะประกอบด้วยเทคโนโลยีล่าสุดสำหรับการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ทั้งในกลุ่มพลาสติก แม่พิมพ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเชื่อมโยงกับระบบอัตโนมัติแขนกล เซ็นเซอร์ การตรวจวัด และการตรวจนับ ก่อนการนำไปประกอบเป็นชิ้นงาน เป็นการนำเสนอแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอบโจทย์ธุรกิจและอุตสาหรรมการผลิตในอนาคตสำหรับทุกอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขบวนการผลิตที่เพิ่มประสิทธิภาพ มุ่งสู่การผลิตชิ้นส่วนที่มีมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีใหม่กับวัสดุชนิดใหม่ ๆ ที่มีน้ำหนักเบา แต่มีคงทนแข็งแรงกว่า โดยการผลิตรถยนต์แห่งอนาคตและหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติยังเป็นเทรนด์ที่มาแรง และประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นฐานการผลิตที่มีความแข็งแกร่งมากจากประสบการณ์ที่ได้ร่วมผลิตให้กับแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก ผู้ประกอบการไทยจึงควรอาศัยจุดแข็งของตนชิงฐานการผลิตรถยนต์แห่งอนาคตและหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติด้วยการจับมือสร้างเครือข่ายพันธมิตรในอาเซียนและเทคโนโลยีที่ทันสมัยสอดคล้องการผลิต แล้วประกาศความเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งของระบบการผลิตที่ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทันสมัย สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ซื้อ ผู้ขาย ตลอดจนผู้เข้าร่วมชมงาน

ไฮไลต์กิจกรรมในงาน ได้แก่ “Cutting Tools Runaway” นำเสนอชิ้นงานเทคโนโลยีผ่านรูปแบบแฟชั่นโชว์ และ “Top of the Best” เวทีสาธิตประสิทธิภาพของเครี่องจักรและซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องแบบ Integrated System ซึ่งจะตอบโจทย์ความต้องการ Total Solution แก่กลุ่มผู้ซื้อและเข้าชมงาน "ME Talk" การจัดเสวนาของบุคคลที่เปรียบเสมือนเสาหลักในวงการพลาสติก ยานยนต์ ฯลฯ มาพูดคุยให้ข้อมูลข่าวสารและโนว์ฮาวต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ยังได้จัดให้มี "MFair" งานจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น และผู้รับช่วงการผลิตของไทยในอุตสาหกรรมสนับสนุนเพื่อสร้างพื้นที่ในการเจรจาการค้าให้กับผู้ร่วมงาน สร้างโอกาสแห่งการเติบโตของอุตสาหกรรมไทยอย่างรอบด้านครบถ้วนทุกมิติ และกิจกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกมากมาย งาน ME 2018 จะจัดขึ้นในวันที่ 20-23 มิถุนายน 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา