เนื่องจากวันสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้จัดการประกวดการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2561 โดยมีนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ณ โถงอาคารพร้อมมงคล ศูนย์พณิชยาการพระนคร จำนวน 6 รายการ ดังนี้ 1.การประกวดสุดยอดมัคคุเทศก์ 2.การแข่งขันตอบปัญหาการท่องเที่ยว หัวข้อ “การท่องเที่ยววิถีไทยเก๋ไก๋อย่างยั่งยืน” 3.การแข่งขันทักษะวิชาชีพทางคหกรรมศาสตร์: การแกะสลัก “Good Kids for Good Society” ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 4.การแข่งขันทักษะการออกแบบเสื้อผ้า Smart RMUTP ระดับมัธยมศึกษาตอน 5.การออกแบบผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุ 6.การแข่งขันประกวดภาพยนตร์สั้น To Be No.1 หัวข้อ “เป็นหนึ่งไม่พึ่งยา”
การแข่งขันรายการการจัดรายการนำเที่ยว “สุดยอดมัคคุเทศก์ Creative Tourism” รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวปาลิตา ตั้งใจปอง,นางสาวอัญมณี คุมาอิและนางสาว พิชญากานต์ พันโนลิด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ สาขาการท่องเที่ยว รับถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรีทุนการศึกษาและเกียรติบัตร รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่วิทยาลัยดุสิตธานี ,รองชนะเลิศอันดับ 2 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีรัตนโกสินทร์และ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงเทพ
นางสาวปาลิตา ตั้งใจปอง นักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ สาขาการท่องเที่ยว ชั้นปีที่ 4 ทีมชนะเลิศรายการนำเที่ยวสุดยอดมัคคุเทศก์ Creative Tourism เล่าว่า “แนวทางการแข่งขันในครั้งนี้เป็น Creative Tourism ก็คือการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และเราก็ได้จัดการท่องเที่ยวโดยให้ลูกค้าได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน ได้ลงมือทำกิจกร่วมกับชาวบ้านในท้องถิ่น เช่น ได้ทำการปลูกข้าว ทำการเกษตร ทอผ้า รวมถึงการทานอาหารก็ทานแบบพื้นบ้านร่วมกันชาวบ้าน Concept ในครั้งนี้จะเป็นการจัดทัวร์เหนือ เป็นการท่องเที่ยวภาคเหนือซึ่งเป็นจังหวัดเชียงใหม่ 3 วัน 2 คืน การแข่งขันในครั้งนี้มันเป็นมากกว่าการแข่งขันเพราะว่ามันเป็นการท้าทายตัวเองด้วย ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ซึ่งครั้งนี้มันได้มากกว่าถ้วยรางวัล เงินรางวัล เพราะมันได้ทั้งมิตรภาพ และการช่วยเหลือของอาจารย์มันทำให้เราเห็นหลายๆ และทำให้รู้สึกว่า 4 ปีที่เราเรียนมามันได้เอามาใช้ประโยชน์มาก”
นางสาวอัญมณี คุมาอิ นักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ สาขาการท่องเที่ยว ชั้นปีที่ 4 ทีมชนะเลิศรายการนำเที่ยวสุดยอดมัคคุเทศก์ Creative Tourism กล่าวว่า “หัวข้อทีเราไปแข่งคือสุดยอดมัคคุเทศก์ Creative Tourism ซึ่งเป็นเหมือนการจัดการท่องเที่ยวที่ต้องมีความสร้างสรรค์ขึ้นมา ต่างจากการท่องเที่ยวทั่วไปทำให้การท่องเที่ยวมีความน่าสนใจ มีความสร้างสรรค์ แตกต่างจากเดิม และที่สำคัญคือต้องมีการที่แบ่งบัน และร่วมมือกับชุมชนในการจัดทัวร์ครั้งนี้ โดยที่จะต้องไม่มีการเบียดเบียนหรือว่าสร้างผลกระทบให้แก่การท่องเที่ยวค่ะ นอกจากนี้อาจารย์ประจำสาขาที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยช่วยเราในเรื่องของรายละเอียดที่เจาะลึกลงมา ดูแลแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายการเดินทางที่ออกให้นักศึกษาในทีมเพื่อมาซ้อม เรื่องอาหาร เสื้อผ้า หน้า ผม และในทุก ๆ เรื่องค่ะ ที่สำคัญเลยจะเป็นเรื่องกำลังใจล้วน ๆ ที่เราไม่สามารถหาจากที่ไหนได้ค่ะ”
นางสาวพิชญากานต์ พันโนลิด นักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ สาขาการท่องเที่ยว ชั้นปีที่ 4 ทีมชนะเลิศรายการนำเที่ยวสุดยอดมัคคุเทศก์ Creative Tourism เปิดเผยว่า “จากการเข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้กลุ่มเราจัดทัวร์ไปที่จังหวัดเชียงใหม่ค่ะ ในโปรแกรมก็คือจะเป็นการท่องเที่ยวในเชิงสร้างสรรค์ คือการที่จัดเส้นทางไปสถานที่ท่องเที่ยวที่ร่วมกับชุมชน จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก เพื่อที่จะได้เผยแพร่สถานที่ท่องเที่ยวออกไปให้คนทราบถึงความสวยงามของมันค่ะ ซึ่งหลัก ๆ เราต้องจัดการท่องเที่ยวเพื่อต่อยอด เพิ่มมูลค่าและแบ่งบันให้ทางชุมชนมีส่วนร่วมกับรายได้ค่ะ”
อาจารย์จันทร์จิต ฐนะศิริ คณะการท่องเที่ยวและอุสาหกรรมบริหาร สาขาวิชาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้จริง ๆ คือเราใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนหลังจากทราบข่าว ซึ่งตอนแรกเลยเราก็จะทำการคัดเลือกนักศึกษาก่อนว่าใครที่จะเหมาะกับการแข่งขันนี้ และได้เห็นความสามารถของเด็กทั้ง 3 คน ก็เลยรวมตัวกันได้ตอนประมาณเดือนธันวา เลือก 3 คนที่มีความสามารถในการบรรยาย การพูด และการนำเสนอเกี่ยวกับโปรแกรมการนำเที่ยว และหลังจากคัดเลือกแล้วทุกตอนเย็นเราจะมีการฝึกซ้อมกัน เพราว่าเด็กส่วนใหญ่เริ่มฝึกงานกันแล้วเราก็เลยเลือกช่วงเย็นในการฝึกซ้อม และเด็ก ๆ ก็จะมีการเขียนโปรแกรมเองด้วย เพราะครั้งนี้เขาวางคอนเซ็ปงานไว้เป็น Creative Tourism เราเลยใช้วิธีที่ให้เด็ก ๆ สรรหา คัดเลือกเองว่าจะไปที่ไหน สุดท้ายเขาเลยเลือกจังหวัดทางภาคเหนือเราเขียนโปรแกรมขึ้นมาเอง โดยใช้คำพูดของตัวเองในการนำเสนอออกมา โดยที่จะมีอาจารย์คอยช่วยขัดเกลา แต่หลัก ๆ จะเป็นตัวเด็กๆค่ะ”
“จริง ๆ แล้วเทคนิคมันสะสมมาตั้งแต่ปีหนึ่งที่เข้าเรียนมาอยู่แล้ว เพราะว่าในรายวิชาที่เราสอนในสาขาวิชาการท่องเที่ยวมันจะมีทุกวิชาเลย เด็ก ๆ ต้องได้แสดงออก ได้พูด เกือบทุกวิชา เพราะมันต้องมีการนำเสนอการบรรยายต่าง ๆ แล้วมีวิชาการจัดนำเที่ยว วิชามัคคุเทศก์ ซึ่งมันมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่แล้วในส่วนของการแข่งขันในครั้งนี้ แล้วเด็ก ๆ ทุกคนที่มาเรียนที่นี้ คือ เราจะสร้างให้เขามีความมั่นใจในตัวเอง แล้วก็กล้าที่จะพูด เพราะฉะนั้นเทคนิคของเราง่าย ๆ คือเด็ก ๆ ต้องเชื่อว่าเขาสามารถทำได้โดยที่เราต้องคอยให้กำลังใจและสนับสนุนเขาค่ะ” อาจารย์จันทร์จิต กล่าวเพิ่มเติม