ภาครัฐพร้อมส่งเสริมให้ปี 2018 เป็นปีแห่ง Year of Data หรือปีของข้อมูลภาครัฐอย่างแท้จริง โดยจะมีการประกาศ National Data Set หรือชุดข้อมูลแห่งชาติ เบื้องต้นคาดว่าจะมีชุดข้อมูลภาครัฐที่อยู่ในโครงการนี้ประมาณ 300-500 ชุดข้อมูลเพื่อให้ประชาชนนำไปใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ นำไปสู่การเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งและความก้าวหน้าด้วยความสามารถของการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ ในส่วนภาคเอกชนยังสามารถนำชุดข้อมูลเผยแพร่ต่างๆ ไปวิเคราะห์ข้อมูลที่กระจายตัวอยู่ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เช่น ธุรกิจ E-commerce, Social Media เป็นต้น ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาเชื่อมโยงเพื่อต่อยอดทางเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตขึ้น
ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเปิดงาน เปิดเผยความพร้อมในการพัฒนาประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ว่า รัฐบาลได้เร่งเครื่องเดินหน้ารัฐบาลดิจิทัลให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นตามแนวทาง “เปิดเผย เชื่อมโยง เปลี่ยนผ่าน สู่รัฐบาลดิจิทัล” เริ่มตั้งแต่การวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลให้มั่นคงเพื่อให้ภาครัฐทั้งหมดมีเสถียรภาพในการทำงานแบบอัจฉริยะ การสร้างระบบเพื่อให้เกิดการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรร่วมกันสำหรับการบริหารงานและให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มั่นคง ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็แบ่งปันและเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากัน ไม่ต้องลงทุนเองเพียงเข้ามาใช้บริการที่มีอยู่แล้วก็ช่วยชาติประหยัดงบประมาณได้ปีละหลายพันล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้มีการลงทุนในส่วนโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาให้มีความทันสมัยมากขึ้น สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาได้อย่างเท่าทัน
สิ่งที่รัฐบาลผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรมมาโดยตลอดคือการทำงานอย่างโปร่งใส ซึ่งไม่ใช่เพียงการเปิดเผยข้อมูลที่มีอยู่จากอะนาล็อกมาสู่ดิจิทัลเท่านั้น แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ เริ่มตั้งแต่การเปิดเผยขั้นตอนการทำงานของทุกหน่วยงานให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและประชาชนสามารถใช้อ้างอิงข้อมูลร่วมกันได้ ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ data.go.th แหล่งค้นหาชุดข้อมูลเปิดภาครัฐ และภาษีไปไหน ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ปัจจุบันได้พัฒนาถึงเวอร์ชัน 2 แล้ว ทั้งในรูปแบบเว็บไซต์ govspending.data.go.th และแอปพลิเคชัน นับเป็นการเปิดประตูสู่สังคมแห่งการเปิดเผยที่กว้างที่สุดเท่าที่เคยมีมาของรัฐบาลไทย
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่าในการจัดงาน “Digital Government Summit 2017 : เปิดเผย เชื่อมโยง เปลี่ยนผ่าน สู่รัฐบาลดิจิทัล” ช่วยให้ประชาชนได้เห็นพลังความร่วมมือของหน่วยงานพันธมิตรที่ต่างนำบริการอัจฉริยะมานำเสนอให้ได้สัมผัสกันอย่างใกล้ชิด ภายในงานมีการประกาศผลการสำรวจระดับความพร้อมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในภาพรวมของประเทศไทย ประจำปี 2560 เบื้องต้นพบว่าหน่วยงานภาครัฐระดับกรมได้ค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 57.2 โดยคะแนนสูงสุดอยู่ที่มิติด้านศักยภาพเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านดิจิทัล หน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัดได้ค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 36.9 โดยมิติด้านการบริหารจัดการภายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ค่าคะแนนสูงสุด ซึ่งจากผลการสำรวจดังกล่าวจึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่กำลังเดินหน้าเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลดิจิทัล โดยเร่งสร้างความชัดเจนในการนำประเทศไทยเข้าสู่ Digital Transformation ทั้งในด้านบุคลากร กระบวนการ และกฎหมาย อาทิ
- การนำ Digital Transformation Program ของสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลภาครัฐ (Thailand Digital Government Academy : TDGA) ปรับเปลี่ยนบุคลากรภาครัฐด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมในทักษะทางด้านดิจิทัล
- ต้นแบบบริการใหม่โดยใช้หลัก Design Thinking
- พระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัลตามมติคณะรัฐมนตรี
บทบาทใหม่ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ตั้งเป็นสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ Digital Government Development Agency (Public Organization) (DGA) ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลคล่องตัวยิ่งขึ้น ภายในปีหน้าจะมีโครงการใหม่เกิดขึ้น อาทิ
- Government Data Exchange หรือศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ
- Government Data Center หรือศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ
- Government Data Analytics Center หรือศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลแห่งชาติ
- GIN (Government Secured Intranet) จะเปลี่ยนชื่อเป็น Government Secure Intranet หรือระบบโครงข่ายภาครัฐที่มีความปลอดภัยสูง
นอกจากนี้จะมีการสร้าง Open Data Platform หรือแพลตฟอร์มแบบเปิดที่มีความเสถียรและฉลาด ทำให้ปีของข้อมูลกลายเป็นความเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่อย่างจริงจังมากขึ้น