เนื้อหาวันที่ : 2017-12-08 16:53:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1767 views

มจธ. สนับสนุนกลุ่ม 3C Project สร้างสรรค์กิจกรรมชุมชน “บางมดเฟสติวัล” ครั้งที่ 2 คลองสร้างสรรค์ของย่านบางมด

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับโครงการพัฒนาพื้นที่ริมคลองเป็นทางจักรยาน เพื่อสรรค์สร้างการเดินทางและเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน หรือ กลุ่ม 3C Project ซึ่งมาจากคำว่า Cycling Canal Community ที่เกิดจากกลุ่มคนรักเมือง รักจักรยาน รักคลอง อยากเห็นการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน สร้างสังคมสุขภาพดี และฟื้นวิถีชีวิตริมคลองให้กลับมาอีกครั้ง

งานบางมดเฟสติวัล (Bangmod Festival) เป็นเทศกาลประจำปีของย่านบางมด จัดขึ้นโดยกลุ่ม 3C Project ร่วมมือกับการหน่วยงานการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เอกชน เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สำนักงานเขตทุ่งครุ เขตบางขุนเทียน จอมทอง และราษฎร์บูรณะ กลุ่มสร้างสรรค์รักษ์คลองบางมด เครือข่ายชุมชน เครือข่ายภาคประชาสังคมอีกหลายหน่วยงาน ที่มองถึงการพัฒนาเมืองในอนาคต และมีความมุ่งมั่น ที่จะพัฒนาเส้นทางปั่นจักรยานเลียบคลอง เพราะได้เห็นถึงศักยภาพของคลองในกรุงเทพฯ ที่ถูกเชื่อมต่อกัน มีทัศนียภาพที่ยังคงความสวยงามได้มากที่สุดของกรุงเทพฯ สามารถทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวแนวใหม่ ทำให้คลองบางมดเป็นที่รู้จักของคนไทยและคนต่างประเทศ ก่อให้เกิดอาชีพให้กับชุมชน เกิดรายได้ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สิ่งสำคัญกว่านั้น คือการได้รักษาเอกลักษณ์ของชุมชนคนคลองบางมดให้ยังคงอยู่ต่อไป

งานบางมดเฟสติวัล จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 9-10 ธันวาคม 2560 เวลา 15.00-21.00 น. ณ บริเวณทางเลียบคลอง วัดพุทธบูชา ถึงครัววิชชาลัยในสวนบางมด เป็นเทศกาลริมคลองที่ Long (ยาว) ที่สุด ถึง 3 กิโลเมตร กับแนวความคิดคลองสร้างสรรค์ (Creative Canal) ซึ่งพบกับกิจกรรม High Light มากมายภายในงาน อาทิ กิจกรรมสำหรับครอบครัว เล่นทรายสี workshop งานศิลปะ และอื่น ๆ อีกมากมาย กิจกรรมพายซับบอร์ด ท่องเที่ยวสวนส้มบางมด และล่องเรือยามค่ำคืน การแสดงบนเวที ชมดนตรีสดกลางน้ำ ครั้งแรก กิจกรรมป้อนนมแพะ กิจกรรมปลูกส้มบางมดในกระถาง ไฟประดับ (Art Light) และงานศิลปะสาธารณะ ตลอดแนวคลองบางมด ชิมอาหารจากชุมชน ไม่ว่าจะเป็นขนมไทย อาหารมุสลิม ซึ่งมีเฉพาะภายในงานนี้เท่านั้น สามารถติดตาม Teaser #BangmodFest2 ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Dtb5p84dzvI&t=3s

งานบางมดเฟสติวัล ครั้งที่ 2 เทศกาลประจำปีของย่านบางมด จะไม่ใช่เพียงแค่งานธรรมดา ๆ แต่จะกลายเป็นงานที่สร้างสรรค์พื้นที่สุขภาวะต้นแบบที่สามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาพื้นที่ริมคลองในเมืองทั่วประเทศ ทั้งในแง่สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป