ภาพถ่าย (ซ้ายไปขวา): มร.มาร์ติน เฮยส์ ประธานภูมิภาคบ๊อชอาเซียน, มร.สเตฟาน ไซเบิร์ท ประธานฝ่ายระบบเครื่องยนต์แก๊สโซลีน, มร.ยาน แชร์ อัครราชทูตและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย, มร.คริสต้อฟ เคียช รองประธานกรรมการบริหารระบบแก๊สโซลีน และ มร.มาร์ติน คนอซซ์ ประธานภูมิภาคอาเซียนระบบแก๊สโซลีน
บ๊อช ได้ฤกษ์เปิดโรงงานผลิตแห่งที่ 3 ของบริษัทในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โรงงานผลิตแห่งใหม่ของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีและบริการชั้นนำระดับโลกนี้ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง โดยจะเริ่มการผลิตเพื่อป้อนตลาดทั้งในประเทศและทั่วโลก อาทิ ชิ้นส่วนสำหรับเครื่องยนต์แก๊สโซลีนและเครื่องยนต์ดีเซล ระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ Compressed Natural Gas-CNG) รวมทั้งเซลล์เชื้อเพลิง
บ๊อช ลงทุนทั้งสิ้นมากกว่า 3.2 พันล้านบาท (ประมาณ 80 ล้านยูโร) สำหรับโรงงานแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 130 กิโลเมตร โดยมีพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมกว่า 10,000 ตารางเมตร
มร.ยาน แชร์ อัครราชทูตและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย ร่วมกับ มร.สเตฟาน ไซเบิร์ธ ประธานฝ่ายระบบเครื่องยนต์แก๊สโซลีน และ
มร.มาร์ติน เฮยส์ ประธานภูมิภาคบ๊อชอาเซียน และผู้บริหารบ๊อช ให้เกียรติร่วมทำพิธีเปิดโรงงานผลิตแห่งใหม่นี้อย่างเป็นทางการ
มร.แชร์ กล่าวระหว่างพิธีเปิดโรงงานแห่งใหม่นี้ว่า “การขยายกิจการของบ๊อชเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยตอกย้ำเรื่องราวความสำเร็จเกี่ยวกับคุณลักษณะเด่นของสินค้าต่าง ๆ ที่ “ผลิตในเยอรมนี” ซึ่งผู้บริโภคให้ความไว้วางใจทั้งในด้านของวิศวกรรม นวัตกรรม และการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือทั่วโลกเองก็ตาม คุณภาพและความน่าเชื่อถือของสินค้าที่ “ผลิตในเยอรมนี” นี้คือเหตุผลหลัก ๆ ที่บริษัทสัญชาติเยอรมันสามารถส่งออกสินค้าไปทั่วโลก และกระผมเองรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่เห็นประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้”
การเสริมศักยภาพในการแข่งขันด้วยโรงงานผลิตที่มีความทันสมัย ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานตามแนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 ของบ๊อช
โรงงานผลิตที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จของบ๊อชแห่งนี้ ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ส่วนแรก ประกอบด้วย สายการผลิตระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก (Scooter) และพาวเวอร์สปอร์ต (Power Sport) เช่น รถเล็กสำหรับวิ่งบนหิมะ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีห้องปลอดเชื้อ (Clean Room Technology) เพื่อไม่ให้เกิดฝุ่นหรืออนุภาคเล็ก ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของหัวฉีดเชื้อเพลิง ส่วนที่สอง สำหรับสายการผลิตตัวคอนเน็คเตอร์หรือตัวเชื่อมต่อ (connector) ซึ่งสามารถมองเห็นกระบวนการผลิต ตั้งแต่เป็นเม็ดพลาสติก จนถึงขั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสร็จสมบูรณ์ และ ส่วนสุดท้าย ประกอบด้วยสายการผลิตน็อคเซนเซอร์ (Knock Sensor) หรือเซนเซอร์ตรวจจับการน็อค
บ๊อชเป็นผู้นำในตลาดเจ้าสำคัญด้านการให้บริการโซลูชั่นส์อุตสาหกรรม 4.0 และนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อการผลิต และกรุยทางไปสู่การพัฒนานวัตกรรมต่อเนื่องที่ขับเคลื่อนยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านในระดับโลก โรงงานผลิตของบ๊อชที่จ.ระยองคืออีกหนึ่งตัวอย่างที่ติดตั้งระบบการทำงานแบบอัตโนมัติที่ประสานกับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อในสายการผลิตโดยใช้โซลูชั่นส์อุตสาหกรรม 4.0 ที่เป็นเอกสิทธิ์ของบ๊อช
“การเปิดโรงงานแห่งใหม่นี้ ช่วยให้บริษัทมีศักยภาพในการรองรับการเติบโตของบริษัทผู้รับจ้างผลิตยานยนต์ (OEM) ทั้งในประเทศและทั่วโลก และยังช่วยเสริมภาพความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของเราในอุตสาหกรรมนี้” มร.ไซเบิร์ธ กล่าว “นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนายานยนต์ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงงานแห่งนี้ นับเป็นศูนย์ศึกษาและพัฒนาแห่งแรกของเราในประเทศไทย ซึ่งช่วยตอกย้ำบทบาทและความสำคัญอย่างยิ่งยวดของประเทศไทยต่อกลุ่มบริษัทบ๊อช ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนไทยไปสู่การเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมในที่สุด”
มร.เฮย์ส กล่าวสรุปว่า “นับว่าการลงทุนของเราในประเทศไทยขานรับกับนโยบายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและความเชี่ยวชาญเพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และ ณ ตอนนี้ ประเทศไทยก็เป็นแหล่งที่ตั้งของโรงงานผลิตที่มีความทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง ผมตั้งตารอที่จะเห็นนวัตกรรมและการพัฒนาใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้าจากโรงงานแห่งใหม่นี้”