เนื้อหาวันที่ : 2017-12-01 17:44:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1400 views

มูลนิธิอาเซียน และเอสเอพี สานต่อความร่วมมือ และเฉลิมฉลองความสำเร็จ ในการขับเคลื่อนผลกระทบทางบวกให้เกิดขึ้นในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล

(จากซ้ายไปขวา) นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน, นายเคลาส์ แอนเดอร์เซ่น ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการของ เอสเอพี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, นางสาวเอเลน ทัน ผู้อำนวยการมูลนิธิอาเซียน และนายยูจีน โฮ ผู้อำนวยการฝ่าย Corporate Affairs ของเอสเอพี เอเซียตะวันออกเฉียงใต้

มูลนิธิอาเซียน และเอสเอพี เอสอี (NYSE: SAP) ได้ประกาศถึงก้าวต่อไปของการร่วมมือระหว่างกันของสององค์กรในปี 2561 ซึ่งสืบเนื่องมาจากความสำเร็จของการร่วมมือในปีแรกในการสร้างผลกระทบทางสังคมให้เกิดขึ้นในประชาคมอาเซียน ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างมูลนิธิอาเซียน และเอสเอพี ทั้งสององค์กรจะร่วมมือกันสร้างโครงการริเริ่มต่างๆภายใต้กลยุทธ์หลัก 2 ส่วนในปีหน้า ได้แก่ การศึกษา และการสร้างความเป็นผู้ประกอบการ

สำหรับโครงการริเริ่มเหล่านี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนอาเซียนด้วยทักษะที่จำเป็น เพื่อนำไปสู่การช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม และเติบโตในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล ทั้งยังเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกิจการเพื่อสังคมที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ซึ่งมีหน้าที่นำเยาวชนสู่เส้นทางอาชีพอย่างประสบความสำเร็จ และสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญสำหรับอุตสาหกรรมไอทีด้วยโปรแกรมการฝึกอบรม และพัฒนาบุคลากรต่าง ๆ

ในปีแรกของการร่วมมือกัน ได้เกิดผลลัพธ์ด้านบวกภายใต้แกนหลักสำคัญ ได้แก่

การศึกษา

  • การแข่งขัน ASEAN Data Science Explorers ได้มีผู้สมัครเข้าแข่งขันทั้งหมด 804 คน จาก 112 สถาบันการศึกษาในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ โดยระหว่างการแข่งขัน นักศึกษาทั้งหมดได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ Analytics Cloud ของเอสเอพี ทั้งผ่านทางเว็บไซต์ และการสัมมนาที่จัดขึ้นในประเทศของตนเอง ทั้งนี้ มีนักศึกษามากกว่า 600 คน ที่ได้รับการฝึกอบรมผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว
  • การแข่งขันดังกล่าวได้กระตุ้นให้เกิดความรู้เชิงลึกและไอเดียที่ขับเคลื่อนโดยดาต้าซึ่งเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมที่น่าเป็นห่วงในภูมิภาค ไฮไลท์ของการแข่งขัน เช่น ผลงานของทีม “Omotesando” จากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเร่งการผนวกทางการเงินให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นหนทางในการขจัดความยากจนผ่านการธนาคารแบบไร้สาขา และผลงานของทีม “Tonkar Data” จากประเทศลาว ซึ่งได้นำเสนอแนวทางการทำการเกษตรแนวตั้งอัจฉริยะในอาเซียน เพื่อเพิ่มผลผลิตในภาคเกษตรกรรม

การมีจิตอาสา

  • โครงการ Youth Volunteering Innovation Challenge (YVIC) ภายใต้หัวข้อ “สร้างผลกระทบในอาเซียน” ได้สนับสนุนกลุ่มเยาวชนผู้มีจิตอาสาในภูมิภาคอาเซียน ในการมุ่งหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกิดจากเยาวชนเพื่อสร้างผลกระทบทางสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการช่วยเหลือและคำแนะนำจากทีมผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งเงินทุนในการเริ่มต้นและขยายโครงการที่พวกเขาคิดค้นขึ้นให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง
  • กลุ่มเยาวชนนักสร้างสรรค์ผู้มีจิตอาสาทั้งหมด 29 คน จากทั้งหมด 10 ทีมทั่วอาเซียน ได้เข้าร่วมโครงการ YVIC ประจำปี 2017 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง โครงการอาสาสมัครขององค์การสหประชาชาติ (UNV), โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP), องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), มูลนิธิอาเซียน, สำนักเลขาธิการอาเซียน, เอสเอพี พร้อมด้วยการให้ความสนับสนุนอย่างใกล้ชิดโดยภาครัฐบาลของประเทศเยอรมนี

ความเป็นผู้ประกอบการ

  • ภายใต้การร่วมมือครั้งนี้ เอสเอพีได้ให้การสนับสนุน 9 จาก 50 สุดยอดองค์กรกิจการเพื่อสังคมทั่วอาเซียน ผ่าน 2 โครงการ ได้แก่ SAP Social Sabbatical และ NUS Crossing the Chasm Challenge โดยพนักงานเอสเอพีได้ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้องค์กรเหล่านี้ดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นางสาวเอเลน ทัน ผู้อำนวยการมูลนิธิอาเซียน กล่าวว่า “ภายใต้การร่วมมือดังกล่าว เราสามารถใช้ทรัพยากรจากทั้งสององค์กรเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนอาเซียนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการขับเคลื่อนอนาคตอันยั่งยืนของอาเซียน ด้วยการเคลื่อนตัวสู่ระบบดิจิตอลได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจอาเซียนในปัจจุบัน ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันเพื่อถ่ายทอดทักษะที่จำเป็นให้กับเยาวชน เอสเอพีเป็นพัมธมิตรที่แข็งแกร่งซึ่งช่วยให้เราผลักดันความตั้งใจนี้ได้อย่างต่อเนื่อง เรามีความยินดีที่จะเดินหน้าร่วมมือกับเอสเอพีเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มบุคลากรอาเซียนในอนาคตต่อไป”

บันทึกความเข้าใจระหว่างสององค์กร ได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ณ สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิอาเซียน เมืองจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย นับจากวันนั้น มูลนิธิอาเซียน และเอสเอพี ได้ดำเนินโครงการต่างๆภายใต้แกนหลักทั้งสามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

นายเคลาส์ แอนเดอร์เซ่น ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการของ เอสเอพี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ปี 2560 เป็นปีที่พิเศษมากสำหรับประชาคมอาเซียน ทั้งการครบรอบ 50 ปีของประชาคมอาเซียน และการเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปีของมูลนิธิอาเซียน ประชาคมของเราเติบโตขึ้นมาก และด้วยการร่วมมือในครั้งนี้ เอสเอพีมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้อาเซียนได้ก้าวสู่เส้นทางใหม่สู่อนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น การช่วยให้โลกนี้ดำเนินไปได้อย่างดีขึ้น และช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น เป็นหัวใจหลักของทุกสิ่งที่เอสเอพีทำมาโดยตลอด และเรามีความยินดีกับผลลัพธ์ของการร่วมมือครั้งนี้ในปีแรกที่ผ่านมา ผมมั่นใจว่า ก้าวต่อไปของการร่วมมือดังหล่าวจะช่วยยกระดับความมุ่งมั่นในด้านโครงการด้านการรับผิดชอบต่อสังคมต่างๆของเราให้มากขึ้น เพื่อสร้างผลกระทบด้านบวกที่มากขึ้นให้เกิดทั่วอาเซียน”

หน่วยงาน IMDA เตรียมเป็นผู้ร่วมจัดการแข่งขัน ASEAN Data Science Explorers ประจำปี 2560

จากการที่สิงคโปร์จะขึ้นเป็นประธานอาเซียนในปี 2561 การแข่งขันรอบตัดสินชิงชนะเลิศระดับอาเซียน ของโครงการ ASEAN Data Science Explorers 2018 จึงจะถูกจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมี Infocomm Media Development Authority (IMDA) เป็นพันธมิตรในกรจัดการแข่งขัน

ASEAN Data Science Explorers เป็นการแข่งขันที่มีกลุ่มเป้าหมายคือเยาวชนอาเซียนจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ถูกจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของประชาคมอาเซียนในหมู่เยาวชนในภูมิภาค โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขัน จะมีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆของภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึง SAP Analytics Cloud platform ซึ่งช่วยให้พวกเขาดึงข้อมูลเชิงลึกที่ขับเคลื่อนด้วยดาต้าได้ดียิ่งขึ้น สำหรับปี 2561 การแข่งขันดังกล่าวจะมีกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มเยาวชนอาเซียนทั้งหมด 5,000 คน ด้วยยจุดประสงค์คือการเพิ่มทักษะด้าน data และ analytics ของเยาวชนเหล่านี้ให้เพิ่มมากขึ้น

ตัน ฮุง เซ็ง ผู้แทนถาวรสิงคโปร์ประจำอาเซียน กล่าวว่า “สิงคโปร์มีความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ASEAN Data Science Explorers รอบตัดสินชิงชนะเลิศระดับอาเซียน ที่สิงคโปร์ในปีหน้า นี่เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สอดคล้องกับแกนหลักของการเป็นประธานอาเซียนของสิงคโปร์ ซึ่งจะให้ความสำคัญในด้านความยืดหยุ่นและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยการผลักดันด้านความรู้เชิงดิจิตอลให้กับเยาวชน การแข่งขัน ASEAN Data Science Explorers จะช่วยสนับสนุนความตั้งใจของอาเซียนในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลสู่การสร้างอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับประชาชนของเรา”

หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแข่งขัน สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่ http://www.aseandse.org