นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) เยือนประเทศไทย ตามโครงการความร่วมมือด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างไทย และ สปป. ลาว ระหว่างวันที่ 12–17 พฤศจิกายน 2560 เพื่อศึกษาดูงานและร่วมพัฒนาข้อเสนอโครงการความร่วมมือด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับปี 2560 – 2561 ร่วมกันระหว่างสองประเทศ
การศึกษาดูงานและร่วมพัฒนาข้อเสนอโครงการความร่วมมือด้าน วทน. ของนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไทย-ลาว ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 ณ จังหวัดเชียงราย ที่ผ่านมา ซึ่งมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นายพิมพา อุดทะจัก รักษาการอธิบดีกรมแผนการและร่วมมือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง สปป.ลาว เป็นหัวหน้าคณะและประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ทั้งสองฝ่าย โดยที่ประชุมได้เห็นชอบกับข้อเสนอโครงการความร่วมมือด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เสนอในนามประเทศไทย โดยโครงการดังกล่าวที่ประชุมได้มอบหมายให้ สวทน. เป็นหน่วยงานหลักในการประสานฝ่ายไทย และมีกรมแผนการและร่วมมือ เป็นหน่วยประสานงานฝ่ายลาว ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายผู้กำหนดนโยบายและนักวิจัยนโยบาย วทน. ระหว่าง 2 ประเทศ และสร้างกลไกในการปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนา ขับเคลื่อนและบริหารจัดการ วทน. ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ท้าทายของทั้ง 2 ประเทศ และขยายผลไปยังระดับภูมิภาคอาเซียนต่อไป โดยในปี 2560 ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในการจัดการฝึกอบรมด้านการบริหารจัดการนโยบาย วทน.และการสนับสนุนทุนวิจัยและแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านนโยบาย วทน. ระหว่าง 2 ประเทศด้วย
สำหรับการศึกษาดูงานและร่วมพัฒนาข้อเสนอโครงการความร่วมมือด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ปี 2560–2561 ของนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 12–17 พฤศจิกายน 2560 ในครั้งนี้นั้น ครอบคลุมใน 3 หัวข้อ คือ 1.การพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ และการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายผู้มีความสามารถด้าน วทน. (Young Research Development and Talent Mobility Polity) 2.การพัฒนาและจัดเก็บตัวชี้วัดด้าน วทน. เพื่อการวางนโยบาย (STI Indicators for National Policy Planning) และ 3. ยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้าน วทน. ระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thailand–Lao PDR STI Partnership Strategy for Sustainable Development) ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานด้านนโยบาย วทน. และโอกาสความร่วมมือด้าน วทน. ระหว่างกัน โดยผลจากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ นักวิจัยจาก สปป.ลาว จะจัดทำสรุปการศึกษาดูงาน เพื่อเสนอต่อ ศ.ดร.บ่อเวียงคำ วงดาลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง สปป. ลาว เพื่อหาความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันต่อไป