บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ชูความสำเร็จจากการรับรู้รายได้ 9 เดือนแรกของปี 2560 ทำสถิติสูงสุด 23,720 ล้านบาท หรือเติบโต 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เผยเป็นผลจากการเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าใหม่เข้าสู่ระบบ พร้อมเพิ่มอัตรากำไร EBITDA 28% และอัตรากำไรสุทธิปรับปรุง 10% นั่งแท่นเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เชื่อมั่นศักยภาพและความพร้อมของบริษัทฯ สามารถขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียนตามเป้าที่วางไว้
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม–กันยายน 2560) ว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการจำนวน 23,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการรับรู้รายได้การขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 5 (ABP5) ในนิคมอุสาหกรรมอมตะนคร เต็ม 9 เดือนของปี 2560 และการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า บี.กริม เพาเวอร์ ดับบลิวเอชเอ 1 (BPWHA1) ในนิคมอุสาหกรรมเหมราช ซึ่งทั้ง 2 โครงการเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 และ 1 พฤศจิกายน 2559 ตามลำดับ ส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) 6,626 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ EBITDA margin เพิ่มขึ้นเป็น 28% โดยมีสาเหตุหลักมาจากประสิทธิภาพที่สูงขึ้นของโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ของกลุ่มบริษัทฯ ที่ทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ กำไรสุทธิปรับปรุง 2,346 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิปรับปรุงส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่จำนวน 1,393 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการดำเนินงาน และการประหยัดดอกเบี้ยจากการชำระคืนเงินกู้ของบริษัทฯ หลังได้รับเงินจากการทำ IPO
“ผลการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกของปีนี้เติบโตเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ มาจากปัจจัยหลัก คือ การเปิดดำเนินการของโรงไฟฟ้าตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 5 (ABP5) ในนิคมอุสาหกรรมอมตะนคร เดือนมิถุนายน 2559 โรงไฟฟ้าบี.กริม เพาเวอร์ ดับบลิวเอชเอ 1 (BPWHA1) ในนิคมอุสาหกรรมเหมราช เดือนพฤศจิกายน 2559 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซน้ำน้อย 2 และเซกะตำ 1 (XXHP) เดือนกรกฎาคม 2560 รวมถึงการบริหารต้นทุนของโรงไฟฟ้า ซึ่งส่งผลให้อัตรากำไร EBITDA สูงขึ้นเป็น 28% และการประหยัดดอกเบี้ยจากการชำระคืนเงินกู้ 5,960 ล้านบาท หลังได้เงินจาก IPO ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิในไตรมาส 3 ของปีนี้ ลดลงเหลือเพียง 1.5 เท่า ซึ่งเป็นไปตามที่แผนระดมทุนที่วางไว้” นางปรียนาถ กล่าว
นางปรียนาถ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าสานต่อตามแผนการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าที่วางไว้ ทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริษัทฯ มีความเชื่อมั่นในศักยภาพด้านบุคลากรทีมปฏิบัติการและทีมบำรุงรักษาที่มีความเชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ในการพัฒนาโครงข่ายระบบการส่งและขายไฟฟ้าและไอน้ำ โดยมุ่งเน้น การบริหารโครงการ ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย กับองค์การทหารผ่านศึกและสหกรณ์การเกษตร7 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 31 เมกะวัตต์ รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเช่น โรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกในต่างประเทศ เช่น มาเลเซียและเวียดนาม
ปัจจุบัน บริษัทฯ ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 51 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,513 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวมทั้งสิ้น 30 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,646 เมกะวัตต์ และมีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและอยู่ระหว่างการพัฒนา 21 โครงการ มีกำลังการผลิตติตตั้งรวม 867 เมกะวัตต์