เนื้อหาวันที่ : 2007-10-09 09:03:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2411 views

เอ็กโก จับมือ ปตท. และเซปโก หนุนแปรขยะเป็นพลังงาน

เอ็กโก กรุ๊ป จับมือ ปตท. และเซปโก ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ "โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยการแปรสภาพขยะให้เป็นพลังงาน" ตั้งเป้าเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะอีกทางเลือกในการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทน เตรียมนำร่องโครงการที่จังหวัดภูเก็ต ก่อนขยายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

.

เอ็กโก กรุ๊ป จับมือ ปตท. และเซปโก ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ "โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยการแปรสภาพขยะให้เป็นพลังงาน" ตั้งเป้าเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะอีกทางเลือกในการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทน เตรียมนำร่องโครงการที่จังหวัดภูเก็ต ก่อนขยายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

.

เอ็กโก กรุ๊ป ปตท. และเซปโก ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการศึกษาความเป็นไปได้ "โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยการแปรสภาพขยะให้เป็นพลังงาน" สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งนโยบายของกระทรวงพลังงานในการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทน เตรียมนำร่องโครงการที่จังหวัดภูเก็ต ก่อนขยายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

.

วันที่ 5 ตุลาคม 2550 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการศึกษาความเป็นไปได้ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยการแปรสภาพขยะให้เป็นพลังงานระหว่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เซปโก เอเชีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยและเปลี่ยนขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลให้เป็นพลังงานไฟฟ้า รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ โดยจะเริ่มต้นที่จังหวัดภูเก็ตและกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรตามความเหมาะสม ซึ่งโครงการนี้เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างเอ็กโก กรุ๊ป ปตท. และเซปโก ในสัดส่วน 50:35:15 ตามลำดับ

.

นายวิศิษฎ์ อัครวิเนค กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า "ทั้ง ปตท. เซปโก และเอ็กโก กรุ๊ป ได้พิจาณาเห็นว่าปัญหาขยะมูลฝอยได้ทวีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีระบบการจัดการขยะที่ถูกต้อง จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงเป็นที่มาของแนวคิด การผลิตพลังงานจากขยะซึ่งเอ็กโก กรุ๊ป ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่แห่งแรกของประเทศ พร้อมที่จะนำความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการผลิตไฟฟ้าไปใช้ในการศึกษาและพัฒนาโครงการอย่างเต็มศักยภาพ โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาโครงการนำร่องที่จังหวัดภูเก็ตแห่งนี้ให้เป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของเอ็กโก กรุ๊ป ในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมตลอด 15 ปีที่ผ่านมา"

.

"โครงการนี้นับเป็นความร่วมมือที่เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนเป็นการแสดงออกถึงศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาไปในแนวทางที่ประชากรโลกกำลังให้ความสนใจและตระหนักมากขึ้นทั้งในเรื่องของการใช้พลังงาน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน" นายวิศิษฎ์ กล่าว

.

ด้านนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ในฐานะที่ ปตท. เป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเลียมและพลังงานของประเทศ และเริ่มขยายธุรกิจไปในธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานร่วม โดยคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก มีความยินดีที่ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจผลิตไฟฟ้าอย่างเอ็กโก กรุ๊ป และเซปโก ซึ่งมีเทคโนโลยีระบบการจัดการขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ โดยทาง ปตท. มองว่าการนำขยะมูลฝอยมาแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานในรูปของกระแสไฟฟ้าเพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนภายในประเทศนี้ นับเป็นทางเลือกหนึ่งในการกำจัดปริมาณขยะ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งชุมชนและประเทศชาติในภาพรวม"

.

สำหรับเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ นั้น นายเมตตา วิเศษสมบัติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซปโก เอเชีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยว่า "เทคโนโลยีที่นำเสนอโดยเซปโกนี้ถือเป็นเทคโนโลยีระบบ การจัดการขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร โดยนำขยะที่ยังไม่ผ่านการคัดแยกมาผ่านขบวนการโดยใช้ไอน้ำความดันสูงเพื่อแปรสภาพขยะ ขยะที่เป็นอินทรียสารจะแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงพลังงานเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า ส่วนขยะอนินทรียสารทั้งหลาย จะถูกคัดแยกแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมด ในรูปแบบต่างๆตามความเหมาะสม ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าเป็นระบบที่รักษาระบบนิเวศน์และเป็นวิธีที่ยั่งยืนในการบำบัดขยะมูลฝอยและผลิตพลังงาน การนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาปรับใช้กับสภาวการณ์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในขณะนี้ จึงถือว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง และยังมั่นใจได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ"

.

การศึกษาความเป็นไปได้ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยการแปรสภาพขยะให้เป็นพลังงานเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ขอให้คนไทยยึดหลัก "พอเพียง-ยั่งยืน พลังงานทดแทน" เพื่อให้รู้จักการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากที่สุดและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีค่าไว้ อีกทั้งยังเป็นการน้อมรับพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ให้คนไทยช่วยกันฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยให้ใช้ทรัพยากรแต่พอควรเพื่อจะได้มีทรัพยากรไว้ใช้ตลอดไปและไม่สร้างมลพิษให้แก่ชาวโลก

.

นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของกระทรวงพลังงานในการส่งเสริมการแปรรูปขยะเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนของประเทศ ที่ทางรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนของประเทศจากร้อยละ 0.5 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 8 ในปี 2554 โดยจะมีการผลิตไฟฟ้าจากขยะจำนวน 100 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โครงการผลิตพลังงานขยะ ยังสามารถยื่นข้อเสนอในการขายคาร์บอนเครดิตในโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) เพราะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเมื่อเทียบกับการใช้พลังงานจากฟอสซิลด้วย