เนื้อหาวันที่ : 2017-10-25 15:39:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2019 views

งาน "พระก่อพระเกื้อหล้าสู่สวรรค์" น้อมรำฦก ๑ ปีแห่งการสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นปิยมหากษัตริย์ในดวงใจพสกนิกรไทย สวรรคตครบ 1 ปี  คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในฐานะเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมไทยที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และมีบทบาทในด้านวิชาการภาษาไทยและศิลปวัฒนธรรมมาโดยตลอด  จึงดำริจัดงาน “พระก่อพระเกื้อหล้าสู่สวรรค์” เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ ผู้ทรงเป็น “พระราชา” ที่ทรงสร้างงานอันเป็นประโยชน์อเนกอนันต์แก่ประเทศและสร้างโลกนี้ให้งดงามอำไพยังความพิศวงแก่สวรรค์

งาน “พระก่อพระเกื้อหล้าสู่สวรรค์” ประกอบด้วยการร่วมแรงร่วมใจประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ และชมภาพยนตร์สั้นเทิดพระเกียรติ โครงการ “ถอดรหัสคำพ่อสอน” 3 เรื่องใหม่ล่าสุด ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  ได้แก่เรื่อง เด็กชายกับลูกหมาไม่มีชื่อ . เรื่อง ส.ค.ส. ฉบับสุดท้าย และเรื่อง 19 นาฬิกา  พร้อมฟังการบรรยายเรื่อง “ธรรมเนียมการพระเมรุในเมืองไทย” โดยศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ วิทยากร  และเรื่อง “การเดินทางของมโนทัศน์พ่อแห่งแผ่นดิน” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ วิทยากร  ผู้ร่วมงานนอกจากจะได้ความรู้เรื่องการพระเมรุอันเป็นราชประเพณีไทยอันงดงามและอุดมด้วยคติธรรมทางพุทธศาสนาแล้ว  ยังได้ความรู้เรื่องการสร้างมโนทัศน์ “พ่อแห่งแผ่นดิน” จากงานร้อยกรอง เพลง ภาพยนตร์สั้น ที่มีเนื้อหาเทิดพระเกียรติและแสดงโศกาลัย  ตลอดจนเรื่องเล่าถึง “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ที่เล่าด้วยภาษาสามัญง่ายๆ แต่ฉายภาพของความเป็น “เทวดาเดินดิน” ของ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” อย่างงดงาม สังคมไทยได้สร้างมโนทัศน์ “พ่อแห่งแผ่นดิน” ไล่เลียงตั้งแต่ความเป็นธรรมราชา  พ่อหลวงอันเป็นที่รักของปวงชน เป็น “ราชาผู้ทรงทำ” จนถึงผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นต้นแบบของคนดี  การเดินทางของมโนทัศน์นี้ได้ก่อให้เกิดความรักความศรัทธาขึ้นในหัวใจของคนไทยทั้งประเทศ และหัวใจแตกสลายเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ  กล่าวว่า “การถวายน้ำสรงพระศพเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 9 นอกจากพระบรมวงศ์แล้วก็มีผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ คือจำกัดอยู่ในวงแคบ ไม่ถึง 20-30 คน ส่วนตำแหน่งที่ถวายน้ำสรงพระศพนั้น สำหรับพระบรมวงศ์ และข้าราชการระดับสูงถวายน้ำสรงที่พระบาท (เท้า) มีเพียงพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นที่สรงน้ำที่พระอุระ (อก) ส่วนประชาชนทั่วไปนั้น เนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประชาชนกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเจ้านายหลายพระองค์มีความผูกพันใกล้ชิด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนได้ถวายน้ำสรงเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์ที่ศาลาสหทัยสมาคม นับตั้งแต่เมื่อครั้งงานพระศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นต้นมา ตามจังหวัดต่างๆ ก็ทรงอนุโลมให้ทำอย่างเดียวกัน ณ ศาลากลาง”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า “ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นปิยมหากษัตริย์ในดวงใจของพสกนิกรชาวไทย ได้สวรรคตครบรอบ ๑ ปี จึงได้จัดงาน

“พระก่อพระเกื้อหล้าสู่สวรรค์” ขึ้น เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ท่าน ผู้ทรงเป็น “พระราชา” ที่ทรงสร้างงานเพื่อพสกนิกรชาวไทยและประเทศชาติ ให้มีความเจริญรุ่งเรือง ขณะที่ภายในงานได้มีการร่วมแรงร่วมใจประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ และฟังบรรยายจากวิทยากรพิเศษ ที่มอบความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานพระเมรุมาศ และความเข้าใจความคิดเรื่อง “พ่อแห่งแผ่นดิน” ด้วยความซาบซึ้งในพลังศรัทธาที่อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ซึ่งรักศรัทธาต่อพระองค์ท่าน พร้อมปิดท้ายงานด้วย “บทอาลัยพจน์” อันละเมียดละไมและทุกคนร่วมกันตั้งปณิธานด้วยเสียงเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ท่ามกลางแสงเทียนสว่างไสวทั่วหอประชุม”