เนื้อหาวันที่ : 2007-10-08 09:49:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1943 views

สร้างด่วนสุวรรณภูมิ แค่ยกแรกชาวบ้านโหวตล้มโครงการ

เพียงแค่เริ่มต้นโครงการทางพิเศษสุวรรณภูมิก็ส่อเค้าออกอาการสะดุด ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วยและให้ยกเลิกโครงการนี้ หลังการทางพิเศษแห่งประเทศไทยและที่ปรึกษาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน

เพียงแค่เริ่มต้นโครงการทางพิเศษสุวรรณภูมิ หรือโครงการ M1 ก็ส่อเค้าออกอาการสะดุด เมื่อชาวบ้านในพื้นที่ 500 ราย ไม่เห็นด้วยและให้ยกเลิกโครงการนี้ หลังจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และทีมบริษัทที่ปรึกษา ได้เปิดเวทีจัดสัมมนา นัดแรกเพื่อเปิดตัวโครงการ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เขตวัฒนา คลองเตย สวนหลวง ประเวศ ลาดกระบัง อำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่าน มาสด ๆ ร้อนๆ

.

บริษัทที่ปรึกษาได้เสนอผลการศึกษาในเบื้องต้น โดยเริ่มต้นไปที่การทบทวนผลศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงินและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขีดแนวเส้นทางเดิมไว้ เพื่อรองรับการเดินทางเข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการเดิมเริ่มต้นจากแยกพระรามที่ 4-สนามบินสุวรรณภูมิ มีระยะทาง 22.5 กิโลเมตร ใช้งบฯก่อสร้าง 13,325 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 9,422 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 22,747 ล้านบาท

.

ตามผลการศึกษาแบ่งโครงการออกเป็น 2 ตอน คือ ตอนที่ 1 M1-1 เริ่มจากทางด่วน "ฉลองรัช" หรือทางด่วน "เอกมัย-รามอินทรา" ไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทางประมาณ 17.5 กิโลเมตร แนวเส้นทางมี 4 ทางเลือก คือ 1.จากจุดเชื่อมทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา บริเวณถนนตะวันทอง หมู่บ้านเกษมสันต์ 2 ตัดลงไปบนถนนอ่อนนุช ซึ่งเป็นถนนเดิมขนาด 4 ช่องจราจร ไปบรรจบถนนร่มเกล้าตัดกับถนนลาดกระบังบริเวณหมู่บ้านจุลมาศวิลล่า ระยะทาง 14.7 กิโลเมตร

.

2.จากจุดเริ่มต้นทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา บริเวณเดียวกับสายทางที่ 1 ตัดลงไปผ่านถนนศรีนครินทร์ ถนนอ่อนนุช ผ่านหมู่บ้านเสรี โรงเรียนสุเหร่าศาลาลอย ตัดถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ถนนวงแหวนรอบนอก ผ่านพื้นที่โล่งมาบรรจบถนนกิ่งแก้ว ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร 3.จุดเริ่มต้นบริเวณเดียวกับเส้นทางที่ 1 และ 2 จากนั้นจะตัดลงมาผ่านถนนอ่อนนุช ซอย 39 ตัดผ่านหมู่บ้านมหาพล หมู่บ้านมิตรภาพ ถนนศรีนครินทร์ ผ่านหมู่บ้านคันทรี่วิลล่า ลากตรงไปผ่านถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 หมู่บ้านจัดสรรทหารเรือ ถนนวงแหวนรอบนอก มาบรรจบถนนกิ่งแก้ว ซอย 44 ระยะทาง 13.8 กิโลเมตร

.

4.จุดเชื่อมทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ตัดลงมาด้านใต้ผ่านถนนอ่อนนุช หมู่บ้านมิตรภาพ เหมือนกับเส้นที่ 3 ผ่านถนนศรีนครินทร์ หมู่บ้านคันทรี่วิลล่า ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอยสาหร่ายสุวรรณ ตัดลงมาทางด้านใต้ ผ่านซอยจัดสรรทหารเรือ โรงเรียนราชดำริ วัดทุ่งลานา ตรงมาผ่านถนนวงแหวนรอบนอก บรรจบถนนกิ่งแก้ว ซอย 40 ระยะทาง 14.3 กิโลเมตร

.

ตอนที่ 2 M1-2 เริ่มจากถนนพระรามที่ 4 ถึงทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร แนวเส้นทางมี 4 ทางเลือก คือ 1.แยกถนนรัชดาฯ-พระรามที่ 4 ตัดขึ้นไปด้านเหนือ ผ่านถนนสุขุมวิทซอย 24, 26, 51, 53, 55 ซอยเจริญมิตร หมู่บ้านพัฒนเวศน์ ตรงไปเชื่อมกับทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ระยะทาง 6.1 กิโลเมตร 2.จากแยกพระรามที่ 4 ตัดไปผ่านซอยอารีย์ คาร์ฟูร์ พระรามที่ 4 สถานีขนส่งเอกมัย ซอยสุขใจ ถนนสุขุมวิทตัดขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านสุขุมวิท ซอย 6 ซอยปรีดี 15 ผ่านถนนอ่อนนุชบริเวณซอยพานิชกุล จากนั้นตัดตรงไปเชื่อมทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร

.

3.แยกถนนพระรามที่ 4 ใช้เขตถนนพระรามที่ 4 เดิม ตัดผ่านโลตัสและคาร์ฟูร์พระรามที่ 4 โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ซอยฟาร์มวัฒนา ไปรษณีย์พระโขนง ถนนอ่อนนุช ซอยสามสกุล บรรจบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ระยะทาง 6.8 กิโลเมตร และ 4.แยกพระรามที่ 4 ไปตามถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ บริเวณสำนักงานเขตคลองเตย วกขึ้นไปผ่านท้ายซอยแสงทิพย์ของถนนอ่อนนุช ไปบรรจบกับทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ระยะทาง 7.2 กิโลเมตร

.

แม้ว่าจะเป็นเพียงการศึกษาโครงการ แต่ในวันนั้นประชาชนที่มารับฟังข้อมูลจาก กทพ. ต่างมีความเห็นและพูดเป็นเสียงเดียวกัน ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ โดยเฉพาะบริเวณจุดเริ่มต้นโครงการตอน M1-2 บริเวณทางแยกที่เป็นที่อยู่อาศัยชุมชนคลองเตย ซึ่งอาศัยอยู่จำนวนมากนับหลาย 100 ครัวเรือน และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจการค้า ถ้ามีการก่อสร้างจะคัดค้านจนถึงที่สุด รวมทั้งมีข้อเสนอให้ กทพ.ไปใช้พื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงแทน

.

นอกจากนี้ข้อคิดเห็นของประชาชนที่ไม่อยากให้ กทพ.ก่อสร้าง เพราะในเมืองมีทางด่วนอยู่แล้วจะไปซ้ำซ้อนกับโครงการเดิม อีกทั้งเส้นทางไปสนามบินสุวรรณภูมิปัจจุบันมีพอเพียงแล้ว ให้เลือกที่ใหม่ที่เป็นพื้นที่ว่างและเหมาะสมกว่านี้เพื่อจะได้คุ้มค่ากับการลงทุน

.

เป็นเหตุให้ "เผชิญ ไพโรจน์ศักดิ์" ผู้ว่าการ กทพ. ต้องออกมาชี้แจงว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงผลการศึกษายังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย โดยต้องใช้เวลาศึกษาอีก 12 เดือน จึงจะรู้ว่าโครงการนี้มีความเหมาะสมที่จะสร้างหรือไม่ ประการสำคัญที่สุดคือไม่ได้มีการล็อกสเป็ก ไม่มีนโยบายมัดมือชกใดๆ ทั้งสิ้น โดย กทพ.หยิบยกแผนงานเดิมของสภาพัฒน์มาทบทวนใหม่

.

"โครงการนี้ต้องการแก้ปัญหาจราจรในเมืองให้คล่องตัวมากขึ้นในการเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ หรือบริเวณใกล้เคียง ผมได้ให้ที่ปรึกษาดูจุดเชื่อมต่อโครงการบริเวณแยก พระรามที่ 4 ใหม่ ให้ต่อเชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 2 บริเวณเพลินจิต เพื่อให้เป็นโครงข่ายเดียวกัน จะได้เกิดความสะดวกมากขึ้น"

 .

ด้านบริษัทที่ปรึกษาระบุว่า การกำหนดแนวเส้นทางทั้ง 4 ทางเลือกนี้ เป็นแนวเส้นทางที่เห็นว่าเลี่ยงการเวนคืนให้เหลือน้อยที่สุดแล้ว โดยพยายามขีดแนวเส้นทางให้ผ่านพื้นที่ว่างให้มากที่สุด ตอนนี้ทั้ง 4 เส้นทางเป็นเพียงตุ๊กตาเท่านั้น จะทราบแนวเส้นทางชัดเจนต้องรอจนถึงประมาณช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2551 เมื่อถึงตอนนั้นจะมีการนำมาเสนอรายละเอียดของแนวเส้นทางในการจัดงานสัมมนาครั้งที่ 2 ต่อไป

 .

อย่างไรก็ตามจากผลการประเมินคร่าวๆ ของบริษัทที่ปรึกษาทั้ง 4 เส้นทางเลือก เส้นทางที่มีแนวโน้มเป็นไปได้มากที่สุด คือ เส้นทางที่ 1 เนื่องจากใช้ถนนอ่อนนุชเดิมเป็นตัววางโครงสร้างโครงการ เหมือนโครงการบางนา-ชลบุรี ซึ่งอาจจะมีการขยายถนนอ่อนนุชเพิ่มจากเดิม 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร เพื่อให้มีเขตทางสำหรับรถวิ่งข้างล่างมากขึ้น

 .
นอกจากนี้แนวเส้นทางสายที่ 1 จุดสิ้นสุดโครงการยังสามารถเชื่อมเข้ากับอาคารผู้โดยสารได้เลย
 .

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ