เนื้อหาวันที่ : 2017-10-18 17:34:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1610 views

ชุมชนรอบอ่างเก็บน้ำนาวัลเปรียงน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” แก้ปัญหาความขัดแย้งและการขาดแคลนน้ำในชุมชน

โดย : งานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
...............................................................................................................................................
ชุมชนน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" พระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการใช้แผนที่ทรงงานมาเป็นแนวทางในการจัดทำ “แผนที่เดินดินของชุมชน” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและการแย่งชิงน้ำของคนในชุมชน 3 หมู่บ้าน 2 อำเภอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในโครงการอ่างเก็บน้ำนาวัลเปรียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผ่านกระบวนการการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น นำไปสู่แนวทางการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของชุมชน
………………….………………………………...…………….…………......................................


อ่างเก็บน้ำนาวัลเปรียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกรเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 1,900 ไร่  มีผู้ใช้น้ำด้วยกัน 3 หมู่บ้าน 2 อำเภอ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกัน คือบ้านวังไทร ม.7, บ้านหนองแก ม.3 ต.ไร่ใหม่ อ.สามร้อยยอด และบ้านวิ่งน้อย ม.8 ต.สามกระทาย อ.กุยบุรี รวม 287 ครัวเรือน 1,160 คน

ด้วยสภาพพื้นที่เป็นดินร่วนปนทรายและพื้นที่เป็นที่ราบเอียงไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ที่ผ่านมาชุมชนอาศัยน้ำจากลำห้วยและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ น้ำส่วนใหญ่มาจากปริมาณฝน พอหน้าแล้งน้ำก็แห้ง ทำให้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น ไม่เพียงพอสำหรับการทำเกษตร แต่หลังจากมีการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำให้เก็บกักน้ำได้มากขึ้น มีการสร้างระบบคลองส่งน้ำขึ้นเมื่อปี 2530 ชุมชนเริ่มมีน้ำใช้ แต่กลับไม่สนใจดูแลรักษา ปี 2531 เกิดปัญหาขัดแย้งเกิดการทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงน้ำใช้กัน เพราะชุมชนมีการขยายพื้นที่เกษตรกรรม มีการปลูกพืชที่ต้องใช้น้ำกันมากขึ้น เปิดน้ำใช้ตลอดเวลา ไม่สนใจว่าน้ำจะหมดอ่าง เพราะเห็นว่ามีน้ำใช้ไม่ต้องดูแล ขาดการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม

กระทั่งปี 2553 สำนักงานสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ได้เข้ามาแนะนำและชักชวนให้ชุมชนร่วมกันจัดทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น "โครงการแนวทางการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำนาวัลเปรียงแบบมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านหนองแก ต.ไร่ใหม่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์" ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินำร่อง 84 แห่ง ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมชลประทาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดโอกาสให้คนในชุมชน แกนนำ เจ้าหน้าที่ชลประทาน และหน่วยงานท้องถิ่นได้มาแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคตเพื่อวางแนวทางการจัดการน้ำร่วมกันของชุมชนผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ผลการดำเนินงานได้ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่มีความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แบบมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใช้นำ ผู้จัดการน้ำ และผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านการจัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบ เกิดกระบวนการทำงานใหม่ที่มีการวางแผนผ่านการประชุมแบบมีส่วนร่วม มีการเก็บจัดข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เกิดรูปแบบการติดตามหนุนเสริมงานชลประทาน ภายใต้ปัจจัยเงื่อนไขที่เอื้อต่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ชลประทานและชาวบ้านด้วยกัน ชาวบ้านได้เรียนรู้ข้อมูลการปลูกพืชที่เหมาะสมกับสถานการณ์การใช้น้ำ ศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เชื่อมโยงกับการจัดการน้ำในมิติต่าง ๆ รวมถึงการเก็บข้อมูลปริมาณน้ำฝน ที่มาของแหล่งน้ำ เส้นทางไหลของน้ำ โดยจัดทำ “แผนที่เดินดิน” เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ร่วมกัน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากกระบวนการวิจัยเมื่อชุมชนเกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดความตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ทำให้วันนี้ชุมชนในพื้นที่อ่างเก็บน้ำนาวัลเปรียงสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนวคิดในการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสานการทำงานต่อไปยังเยาวชนรุ่นหลังให้เข้ามาร่วมรับรู้และลงมือปฏิบัติในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน

นายณรงค์ ง้ำตั้ว อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองแก หนึ่งในคณะกรรมการบริหารกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำนาวัลเปรียงและในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า “ชุมชนได้น้อมนำเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ จากที่ในอดีตเราจะเห็นเวลาที่พระองค์ทรงงานเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ พระองค์จะทรงถือแผนที่อยู่ในมือของพระองค์ตลอดเพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ เราจึงได้น้อมนำแนวทางทรงงานของพระองค์ท่านมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำแผนที่เดินดิน โดยชุมชนร่วมกันลงพื้นที่สำรวจ จดบันทึกข้อมูลทางกายภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อมูลชนิดของพืชที่ปลูก จำนวนสัตว์ที่เลี้ยง ตลอดจนชนิดของดินที่ปลูก เส้นทางการไหลของน้ำเพื่อนำข้อมูลที่จัดเก็บมาคิดวิเคราะห์ร่วมกันว่าปัญหานี้จะแก้ไขกันอย่างไร”

นายทวี ปัญญาหาญ หนึ่งในทีมนักวิจัยชาวบ้าน กล่าวว่าตนเองและชาวบ้านไม่เคยทำงานวิจัยมาก่อน แต่พอได้มาทำวิจัยเองรู้สึกแตกต่างจากเดิมที่คิดว่างานวิจัยเป็นแค่เรื่องของอาจารย์และนักศึกษาเท่านั้น พอมาลงมือปฏิบัติเองแล้วได้เรียนรู้หลายอย่างที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้รู้ว่าการทำเรื่องน้ำจะต้องสำรวจอะไร จัดเก็บข้อมูลอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง เช่น เส้นทางน้ำ ดิน และพืช จากการลงมือทำวิจัยของชุมชนนำมาสู่การจัดทำ “แผนที่เดินเดิน” ที่สามารถบอกชุมชนได้ถึงสถานการณ์ของน้ำในอ่างเก็บน้ำขณะนั้นว่ามีปริมาณน้ำเท่าไร ถูกนำไปใช้ทำน้ำประปาเท่าไร จะเหลือน้ำใช้ในการอุปโภค ใช้เพื่อการเกษตรได้อีกเท่าไร ทำให้เห็นภาพการใช้น้ำว่าจะไปสิ้นสุดตอนไหนเพื่อจะได้ระมัดระวังการใช้น้ำและหาวิธียืดระยะเวลาการใช้น้ำออกไปให้ใกล้กับช่วงฤดูฝนมากที่สุด จึงถือว่าแผนที่เดินดินเป็นเครื่องมือที่นำมาสู่แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมของชุมชนที่นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก

“ตอนที่ชุมชนยังไม่มีอ่างเก็บน้ำ ทุกคนอยู่กันได้อย่างมีความรัก ความสามัคคี แต่พอมีอ่างเก็บน้ำกลับไม่เอื้อเฟื้อกัน อะไรคือสาเหตุ ซึ่งปัญหานี้ถูกนำมาเป็นหัวข้อในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันของชุมชน ตั้งแต่เรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตภายใต้กระบวนการวิจัยที่ สกว.เข้ามาให้คำแนะนำการทำงานแบบมีส่วนร่วม ทำให้ผู้เข้าร่วมซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนสามวัยทั้งผู้สูงอายุ คนหนุ่มสาว และเด็กเยาวชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ชลประทาน ได้มีโอกาสพูดคุยกันบ่อยขึ้นจนเกิดความเข้าใจกันมากขึ้น เมื่อชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เกิดจิตสำนึกและตระหนักมากขึ้น ชุมชนก็เกิดการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมหันมาร่วมกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เลิกใช้น้ำสุรุ่ยสุร่าย เกิดแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม โดยชุมชนยังได้น้อมนำแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เช่น เปลี่ยนจากการปลูกพืชใช้น้ำมากไปเป็นปลูกพืชใช้น้ำน้อย มีการขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำใช้ในชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 60 แห่ง" นายทวีกล่าวต่อ

นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้น้ำใหม่ จากการเปิดน้ำเข้าพื้นที่แปลงเกษตรเปลี่ยนมาใช้สปริงเกอร์หรือระบบน้ำหยดแทน มีการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำตามช่วงฤดูกาลเพื่อยืดระยะเวลาการใช้น้ำออกไป โดยในช่วงฤดูฝนให้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติและจากบ่อน้ำชุมชน ให้ใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งปกติจะเปิดให้ใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม ขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำในขณะนั้น เช่น ในปี 2560 ปริมาณน้ำฝนค่อนข้างดี การเปิดใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำอาจขยับออกไปเป็นปลายเดือนมกราคม เป็นต้น

ส่วนการมี "แผนที่เดินดิน" ทำให้ชุมชนได้รับรู้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำได้อย่างดีและเห็นผลชัดเจน เช่น ปี 2558 จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ของความจุ แต่ชุมชนสามารถยืดระยะเวลาการใช้น้ำออกไปให้ใกล้ฤดูฝนได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำเต็มอ่างเก็บน้ำที่ไม่มีการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมและเปิดใช้กันตลอด น้ำก็หมดอ่างได้ภายใน 4 เดือน นอกจากนี้ชุมชนยังสามารถวางแผนการใช้น้ำได้ เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ใช้ใกล้หมดในช่วงใกล้เข้าสู่ฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม หากแนวโน้มว่าฝนอาจทิ้งช่วง การเปิดใช้น้ำก็จะมีระยะห่างขึ้นจากเปิดสัปดาห์ละ 1 ครั้งออกไปเป็น 10-15 วันต่อครั้งเพื่อเป็นการบรรเทาไม่ให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำนาวัลเปรียงขึ้นเพื่อติดตามการใช้น้ำของชุมชน

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวถือเป็นการบริหารจัดการน้ำใหม่ของชุมชนในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำนาวัลเปรียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกิดขึ้นหลังจาก สกว.นำกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเข้ามา อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นจริงได้ชุมชนต้องเข้มแข็ง การดำเนินงานจะต้องได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากผู้นำท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง จึงจะทำให้การบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้ชุมชนมีน้ำกินใช้ที่อย่างยั่งยืนต่อไป