ปิโก (ไทยแลนด์) จับมือพันธมิตรด้านการศึกษาไทย-ต่างประเทศ เปิดงาน EDUCA 2017 หรือมหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 10 หวังสร้างครูไทยพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมช่วยเด็กไทยเติบโตรับมือความเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ชูแนวคิด “Education 1.0, 2.0, 3.0, 4.0 : From Policy to Classroom” ดึงวิทยากรจากประเทศชั้นนำด้านการศึกษาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ เวิร์กช้อปกว่า 150 หัวข้อ การประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติและไฮไลต์ใหม่พื้นที่แสดงเทคโนโลยี-สตาร์ทอัปด้านการศึกษา
งานมหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู หรือ EDUCA จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงประมาณเดือนตุลาคม มีจุดมุ่งหมายหลักคือการเป็นพื้นที่และเวทีกลาง (Platform) ช่วยพัฒนาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน โดยมีวิทยากรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มีผู้ร่วมงานแต่ละปีกว่า 5 หมื่นคน
นายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดงาน EDUCA กล่าวว่าครูถือเป็นกลไกขับเคลื่อนคุณภาพที่สำคัญที่สุดในระบบการศึกษา การพัฒนาคุณภาพครูส่งผลโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งการพัฒนาครูให้เกิดประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องอาศัยความต่อเนื่อง บริษัทจึงได้จัดงาน EDUCA หรือมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อเป็นเวทีการเรียนรู้และพัฒนาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่องทุกปี
“การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงคาดหวังว่างาน EDUCA ของเราจะมีส่วนช่วยเป็นพื้นที่ให้ครูได้มีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นแกนสำคัญช่วยให้เด็กไทยเติบโตต่อไป พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต” นายศีลชัยกล่าวเสริม
การจัดงานในปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 10 ในชื่อ EDUCA 2017 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Education 1.0 , 2.0 , 3.0 , 4.0 : From Policy to Classroom : จากนโยบายสู่ห้องเรียน” ระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2560 ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม (ฮอลล์ 9) เมืองทองธานี มีหน่วยงานรัฐและสถาบันการศึกษาชั้นนำร่วมเป็นเจ้าภาพ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย (สวทศ.) ฯลฯ
แนวคิดการจัดงานในปีนี้มีที่มาจากการตระหนักถึงความสำคัญในการผลักดันนโยบายการศึกษาเข้าสู่ห้องเรียนว่าเป็นกระบวนการที่ยากลำบาก นานาประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต่างก็มีปัญหาด้านการผลักดันนโยบายสู่ห้องเรียนไม่ต่างกัน ในขณะเดียวกันก็มีหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการ บริษัทจึงได้นำแนวทางของประเทศชั้นนำด้านการศึกษามาเป็นตัวอย่างในการประชุมนานาชาติเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านการนำนโยบายไปสู่ห้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
“ปีนี้เราได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการและสถานเอกอัครราชทูตของประเทศชั้นนำด้านการศึกษา เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ สิงคโปร์ เป็นต้น ร่วมส่งวิทยากรจัดหัวข้ออบรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเป็นแนวทางที่ดีในการยกระดับการศึกษาไทย” นายศีลชัยกล่าวเพิ่มเติม
กิจกรรมภายในงานปีนี้ประกอบด้วยการประชุมนานาชาติ (International Conference) การเสวนาพิเศษ “ทิศบ้านทางเมืองครุศึกษา” (Teacher Education Symposium) การสัมมนาพิเศษ (Special Seminar) ฟอรั่มครูใหญ่ (Principal Forum) รวมถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) อีกกว่า 150 หัวข้อ โดยหลักสูตรของงาน EDUCA ปีนี้ได้ผ่านเกณฑ์การรับรองหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูของ สพฐ. จากสถาบันคุรุพัฒนาด้วย
สำหรับไฮไลต์สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีและสตาร์ทอัป เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากในการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกมิติ จึงได้เปิดพื้นที่ให้ EdWINGS ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ด้านการศึกษา เข้ามาดูแลบริหารพื้นที่กว่า 400 ตารางเมตร โดยจะมีการจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าสนใจจากสตาร์ทอัปในพื้นที่ดังกล่าว คาดว่าจะเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนนโยบาย Education 4.0 และ Thailand 4.0
ศ.ดร.อารี สัณหฉวี ครูต้นแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในฐานะประธานในพิธีเปิด กล่าวว่าการศึกษาไทยยังคงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ “ครู” ที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเพราะเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับการพัฒนาแล้วนั้นสู่เด็ก ๆ ที่เป็นอนาคตของชาติ
“ดิฉันในฐานะที่อยู่ในวิชาชีพครูมาตั้งแต่เรียนจบก็ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาตนเอง เพราะตระหนักดีว่าโลกของเรามีองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา งานมหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู หรือ EDUCA ก็เป็นอีกหนึ่งงานที่ครูจะได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองอย่างรอบด้าน ได้เปิดโลกกว้างเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาวิชาชีพ ช่วยพัฒนาเยาวชนของชาติให้กลายเป็นกำลังสำคัญและเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในวันข้างหน้าต่อไป” ศ.ดร.อารีกล่าวปิดท้าย