PTTGC จับมือพันธมิตรยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น Sanyo Chemical และ Toyota Tsusho จัดตั้งบริษัท GC Polyols เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายโพลีออลส์ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตโพลียูรีเทน นับเป็นก้าวที่สำคัญของ PTTGC ในการเดินหน้าโครงการปิโตรเคมีในพื้นที่ Eastern Economic Corridor (EEC) ตามนโยบายรัฐบาล
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ (กลาง) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับ Dr.Takao Ando (ซ้าย) President, Sanyo Chemical Industries, Ltd. (SCI) และ Mr.Soichiro Matsudaira (ขวา) Representative Director, Member of the Board, Executive Vice President, Chief Division Officer of Chemicals & Electronics Division, Toyota Tsusho Corporation (TTC) ในโครงการ Polyols & PU System ร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัท GC Polyols โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นประกอบด้วย PTTGC 82.1% SCI 14.9% และ TTC 3%
โครงการร่วมทุนในครั้งนี้นับเป็นก้าวที่สำคัญของ PTTGC ที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่จะสามารถต่อยอดการดำเนินธุรกิจไปสู่ Performance Chemical เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ สอดคล้องตามแผนกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยมุ่งเน้นที่จะขยายธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) รวมถึงอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง
โรงงานผลิตโพลีออลตั้งอยู่ในนิคมเหมราชตะวันออก จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่การลงทุนภายในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) โดยโรงงานมีกำลังการผลิตโพลีออล 130,000 ตันต่อปี และ PU Systems กำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี จะเริ่มก่อสร้างในเดือนกันยายน 2560 คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ประมาณปี 2563
ภายใต้การร่วมลงทุน PTTGC จะเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบหลัก Propylene Oxide (PO) และ Ethylene Oxide (EO) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต Polyols สำหรับใช้ในการผลิตโพลียูรีเทนคุณภาพสูงที่ใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า (E&E) ตลอดจนอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดย SCI จะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์โพลีออลส์ประเภทต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ส่วน TTC จะให้การสนับสนุนด้านการตลาด การจัดจำหน่าย การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ในทวีปเอเชีย ด้วยความร่วมมืออันแข็งแกร่งของ 3 พันธมิตรจะทำให้โครงการมีศักยภาพในการแข่งขันในภูมิภาคนี้ยิ่งขึ้น
นอกจากนี้สถาบันการเงินชั้นนำ ประกอบด้วยธนาคารกรุงไทย ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ธนาคารธนชาต และธนาคารเกียรตินาคินยังให้การสนับสนุนโครงการในวงเงินลงทุน 23,100 ล้านบาท โดยเป็นกลุ่มธนาคารที่เข้าให้การสนับสนุนการลงทุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อันเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ
พีทีที โกลบอล เคมิคอล ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ โดยมีธุรกิจหลัก 8 กลุ่ม ปัจจุบันมีกำลังการผลิตปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์รวม 9.2 ล้านตันต่อปี มีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบและคอนเดนเสตรวม 280,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Performance and Specialties Chemicals)
ซันโยเคมิคอล อินดัสทรี บริษัทด้านเคมีภัณฑ์ชั้นนำของญี่ปุ่น มียอดขายรวมอยู่ที่ 150 พันล้านเยนในปี 2559 ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จัดจำหน่ายกว่า 3,000 ชนิด อาทิ สารลดแรงตึงผิว (Surfactants) วัตถุดิบในการผลิตโพลียูรีเทน และ Super Absorbent Polymers เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ
โตโยต้าทูโช คอร์ปอเรชั่น บริษัทในกลุ่มบริษัทโตโยต้า มียอดขายประมาณ 5,790 พันล้านเยนในปี 2559 มีพนักงานประมาณ 58,000 คน ดำเนินธุรกิจกับลูกค้าผ่านเครือข่ายทั่วโลกซึ่งครอบคลุมกว่า 90 ประเทศ มีบริษัทในเครือ 970 บริษัท ปัจจุบันบริษัทมีโครงสร้างในการดำเนินธุรกิจ 7 สายธุรกิจ ได้แก่ 1. Metals 2. Global Parts & Logistics 3. Automotive 4. Machinery, Energy & Project 5. Chemicals & Electronics 6. Food & Consumer Services และ 7. Africa