สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน ThaiGAP และ Primary ThaiGAP จัดโรดโชว์อบรมเชิงปฏิบัติการแล้วทั่วประเทศรวม 8 แห่ง สนับสนุนผู้ประกอบการผักและผลไม้ให้ได้รับรอง ThaiGAP จำนวน 34 ราย และ Primary ThaiGAP จำนวน 2 ราย โดยแห่งล่าสุดที่เชียงราย เกิดความร่วมมือกับวิสาหกิจในชุมชนผู้ผลิตผลิตผลทางการเกษตร 3 ราย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงรายที่มุ่งเป้าเป็นฮับภาคเหนือตอนบนด้านสินค้าเกษตรเพื่อรุกตลาดต่างประเทศและสร้างรายได้ให้ชุมชน
นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. เปิดเผยว่า “การดำเนินโครงการพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน ThaiGAP และ Primary ThaiGAP ของโปรแกรม ITAP สวทช. ที่ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2557-2560) ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการผักและผลไม้ไทยได้รับการรับรองไปแล้วทั้งสิ้น 36 ราย แบ่งเป็นมาตรฐาน ThaiGAP จำนวน 34 ราย และ Primary ThaiGAP จำนวน 2 ราย โดยผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ที่เข้าร่วมโครงการมีความหลากหลายกว่า 70 ชนิด อาทิ เมล่อน มะละกอ มะพร้าวน้ำหอม แคนตาลูป แตงโม กล้วยหอม พริก ทุเรียน มังคุด เงาะ และมะเขือเทศ เป็นต้น”
“ภาพรวมการดำเนินงานพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐาน ThaiGAP และ Primary ThaiGAP พบว่า ผู้ประกอบการมียอดขายหลังการได้รับการรับรองเพิ่มมากขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางเกษตรให้สามารถเข้าไปขายในโมเดิร์นเทรดได้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ขณะที่ในปีถัดไปการสนับสนุนมาตรฐาน Primary ThaiGAP จะมีทางหอการค้าจังหวัดทั้ง 75 แห่งรับช่วงดูแลและดำเนินการสนับสนุนผู้ประกอบการผักและผลไม้เพื่อให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ ตลอดช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ได้จัดโรดโชว์อบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อมาตรฐาน ThaiGAP และ Primary ThaiGAP ตามภูมิภาคต่างๆ รวม 8 แห่ง ได้แก่ ภาคกลางที่กรุงเทพฯ และจังหวัดนครปฐม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดสกลนคร ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา ภาคตะวันออกที่จังหวัดจันทบุรี และภาคเหนือที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดตาก และล่าสุดที่จังหวัดเชียงราย โดยแบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรอบรมมาตรฐานสำหรับเกษตรกรและบุคคลทั่วไป ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 700 คน และหลักสูตรอบรมที่ปรึกษาเกษตรกร (Train the trainer) ซึ่งมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ร่วมอบรมกว่า 40 คนเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน อันจะสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรการเกษตรด้านผักและผลไม้ มีผลผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยตามข้อกำหนด ตลอดห่วงโซ่ของการผลิตจากเกษตรกรถึงผู้บริโภค”
นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ กล่าวต่อว่า “ในส่วนของจังหวัดเชียงราย โปรแกรม ITAP สวทช. ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากทางจังหวัด ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ในการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการกว่า 50 คน อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย สหกรณ์การเกษตรเมืองเชียงราย โครงการอาหารปลอดภัย เชียงรายเป็นสุข กลุ่มข้าว อ.เวียงชัย สำนักงานเกษตรอำเภอแม่ฟ้าหลวง บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด เป็นต้น ซึ่งในการดำเนินกิจกรรมโครงการพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน ThaiGAP และ Primary ThaiGAP มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงราย (พ.ศ.2557-2560) ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพมาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งตั้งเป้าจำนวนแปลงที่ได้รับใบรับรอง GAP เพิ่มขึ้น เช่น แปลงหรือฟาร์มข้าว ชา กาแฟ ลำไย ลิ้นจี่ เป็นต้น เพื่อมุ่งเป้าเป็นฮับภาคเหนือตอนบนสำหรับการเป็นศูนย์กลางผลิตผลทางการเกษตรที่ขายไปยังตลาดต่างประเทศ และในโอกาสนี้ โปรแกรม ITAP และหอการค้าจังหวัด ได้นำคณะผู้เข้าร่วมอบรมเยี่ยมชมไร่สิงห์ปาร์ค ของบริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด ชมแปลงตัวอย่างไร่พุทรา ที่มีความสนใจเข้าร่วมพัฒนาเพื่อรับรองมาตรฐาน และสวนผักแม่หมูรัฐวิสาหกรรมชุมชนบ้านแม่สาด ของนายพงษ์ศักดิ์ ทูลอินทร์ แปลงปลูกลิ้นจี่ ลำไย เงาะ มะม่วง และผลไม้ตามฤดูกาล ที่อยู่ระหว่างการตรวจประเมินเพื่อรับรองการได้มาตรฐาน ThaiGAP โดยในภาพความร่วมมือของโครงการและจังหวัดเชียงราย จะเน้นการหาพันธมิตรเพื่อร่วมจัดทำมาตรฐาน เบื้องต้นมีวิสาหกิจจำนวน 3 กลุ่มที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนชาพญาไพรเล่ามา อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย วิสาหกิจชุมชนสับปะรดแม่ปูคา ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย และวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรบ้านแม่สาด รวมถึงเน้นการสร้างผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่น โดยเฉพาะอาจารย์ เพื่อสร้างให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นที่จะให้คำแนะนำผู้ประกอบการผักและผลไม้ในเชียงรายในการดำเนินการตามมาตรฐานต่อไป”