เนื้อหาวันที่ : 2017-08-23 17:24:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1299 views

สวทช. จับมือ เอแบค ดันเครือข่าย ITAP หนุน SME เพิ่มขึ้น เริ่มที่อุตฯ จิวเวลรี่

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ลงนามความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาลัยการศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์ (Elearning ABAC) โดย ภราดา บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในการดำเนินงาน “เครือข่ายโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” หรือเครือข่าย ITAP (ไอแทป) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้การสนับสนุน SME ครอบคลุมและครบวงจรมากขึ้น ตั้งเป้าร่วมกันสนับสนุน SME ไม่น้อยกว่า 15 รายต่อปี โดยกลุ่มแรกที่สนับสนุนคือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับจิวเวลรี่ หรือ Jewelry Tech

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล (กลางซ้าย) ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า สวทช. ดำเนินโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP มาตั้งแต่ปี 2536 ให้การสนับสนุน SME แล้วไม่น้อยกว่า 7,000 ราย โดยคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงกับโจทย์ความต้องการของ SME แต่ละรายมาช่วยทำโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญร่วมดำเนินงานไม่น้อยกว่า 1,300 ราย แต่ยังไม่เพียงพอต่อการให้ความช่วยเหลือ SME ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งภาคการผลิตและการบริการ ที่ยังขาดทรัพยากรด้านต่าง ๆ สำหรับการวิจัยและพัฒนาทั้งด้านการเงินและบุคลากร ประกอบกับรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุน SME ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และได้มีโครงการสนับสนุน SME อย่างต่อเนื่อง โปรแกรม ITAP เป็นโครงการหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบที่จะขยายผล เพื่อให้สนับสนุน SME ได้จำนวนมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2560 ITAP ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวน SME ที่ให้การสนับสนุน จากประมาณ 400 รายต่อปี เป็น 1,000 ราย และมีแผนเพิ่มจำนวนขึ้นในแต่ละปี โดยในปีงบประมาณ 2563 จะสามารถสนับสนุน SME ได้ 3,000 รายต่อปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม 2558”

“ITAP สวทช. ได้ปรับกลยุทธ์การทำงานโดยมุ่งเน้นทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในรูปแบบเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ครั้งนี้ในรูปแบบเครือข่าย ITAP โดยจะนำกลไก ITAP ที่สามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้การสนับสนุนแก้ไขปัญหาและทำวิจัยและพัฒนา ครอบคลุมหลากหลายสาขา และเข้าถึงเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น ส่งผลให้ SME สามารถเข้าถึงการสนับสนุนผ่านกลไกของ ITAP ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังกลไกสนับสนุนอื่นๆ ที่มีประโยชน์อีกด้วย รวมทั้งจะช่วยให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมได้รับการส่งเสริมสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีประโยชน์และหลากหลายอีกด้วย เนื่องจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในหลากหลายสาขา และมีเทคโนโลยีด้านการเรียนการสอนที่ทันสมัย ตลอดจนจะช่วยสร้างกลไกการทำงานที่ตอบโจทย์ความต้องการจากภาคเอกชนได้อย่างชัดเจนและครบวงจรมากขึ้น นอกจากนี้ สวทช. และมหาวิทยาลัยฯ จะช่วยกันส่งเสริมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ ทำโครงการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ภาคเอกชนมากขึ้น ทำให้ผลงานของมหาวิทยาลัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อันจะส่งผลต่อเครษฐกิจในภาพรวมของประเทศต่อไป โดยความร่วมมือในครั้งนี้ เริ่มมีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เป็นระยะเวลา 3 ปี มีเป้าหมายที่จะร่วมดำเนินการสนับสนุน SME ไม่น้อยกว่า 15 รายต่อปี”

ภราดา บัญชา แสงหิรัญ (กลางขวา) อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เข้าร่วมโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP กับ สวทช. เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและความรู้ทางด้านนวัตกรรมของ SME นักศึกษา และอาจารย์ทั่วประเทศ และให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเรื่องความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม การผลิต การจำหน่าย และการบริการ ในการดำเนินงานจะมีวิทยาลัยการศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Graduate School of eLearning (Elearning ABAC) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนินทร จิตตวิริยานุกุล คณบดีบัณฑิต เป็นผู้จัดการเครือข่าย ITAP มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และที่ผ่านมา เครือข่ายมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เริ่มดำเนินขึ้นโครงการไปแล้วทั้งสิ้น 15 โครงการ ภายในระยะเวลา 2 เดือนกว่า มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะเดินหน้าสนับสนุน SME ที่เป็นโครงการกลุ่ม โดยกลุ่มแรกที่ทางเครือข่ายจะเริ่มสนับสนุนคือกลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ หรือ Jewelry Tech เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเสริมสร้างเศรษฐกิจการส่งออกในตลาดโลกต่อไป”