เนื้อหาวันที่ : 2007-09-27 08:59:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1859 views

iTAP จับมือพันธมิตร สกว.พัฒนาอุตฯ อาหาร ด้วยงานวิจัย

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) ร่วมกับ ชุดโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "สร้างความมั่นคงของอุตสาหกรรมอาหารด้วยรากฐานของการวิจัย"

.

ท่ามกลางการแข่งขันและเงื่อนไขข้อตกลงทางการค้า ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะแนวทางของการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ที่ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งความรู้เพื่อสร้างศักยภาพในการผลิต  ปรับปรุงประสิทธิภาพ นำไปสู่แนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืน

.

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ร่วมกับ ชุดโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "สร้างความมั่นคงของอุตสาหกรรมอาหารด้วยรากฐานของการวิจัย"

.

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) กล่าวว่าศูนย์TMCดำเนินโครงการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมจากโจทย์ปัญหาที่พบเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้สินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน นำไปสู่การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน แนวทางความร่วมมือหนึ่งของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC)ร่วมกับพันธมิตรอย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาทราบถึงทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารไทยและแนวโน้มทางการตลาดกระบวนการผลิตที่ทันสมัยและประหยัดพลังงาน

.

ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร อีกทั้งจะได้ทราบถึงบทบาทของหน่วยงานรัฐที่จะสนับสนุนเงินทุนสำหรับวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์  โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 4 อุตสาหกรรมหลัก คือ กลุ่มข้าวและแป้งผลิตภัณฑ์ , กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์นม , กลุ่มผักและผลไม้ และกลุ่มอาหารทะเลอื่นๆ แนวทางการร่วมมือครั้งนี้ยังเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้เข้าถึงแหล่งความรู้ โจทย์ปัญหาในอุตสาหกรรมและแหล่งทุนในการวิจัย อันจะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอาหารของตนเองอย่างยั่งยืน

.

ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ประสานงานชุดโครงการ การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม สกว.กล่าวว่า ตัวอย่างกรณีศึกษาในอุตสาหกรรมผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 ผลจากการศึกษานี้ได้นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรการผลิต จนถึงเทคนิคยืดอายุเส้นให้เก็บรักษาได้นาน โดยจากการศึกษาร่วมกับผู้ประกอบการโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว 70 รายพบว่า ปัญหาหลักอยู่ที่กระบวนการควบคุมการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตโดยต้องอบเส้นนาน 4 ชั่วโมง ทำให้สูญเสียเวลาและพลังงาน อีกทั้งผลผลิตที่ได้พบการปนเปื้อน คุณภาพไม่ได้ตามมาตรฐานและจำเป็นต้องใส่วัตถุกันเสียเพื่อยืดอายุเส้นก๋วยเตี๋ยวให้นานพอสำหรับส่งจำหน่าย

.

"เทคโนโลยีเครื่องจักรที่ออกแบบจะร่นเวลาผลิตเหลือเพียง 2 ชั่วโมง มีประสิทธิภาพในการตัดเส้นสม่ำเสมอ จึงช่วยให้เนื้อสัมผัสของเส้นได้มาตรฐาน ลดการปนเปื้อน ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยียืดอายุเส้นก๋วยเตี๋ยวให้อยู่ได้นาน 7 วัน โดยไม่ต้องใส่วัตถุกันเสีย

.

การสัมมนาในครั้งนี้ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ  นักวิจัย  หน่วยงานสนับสนุนการวิจัย  และผู้ร่วมสัมมนา  รวมทั้งเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในการสร้างความมั่นคงของอุตสาหกรรมอาหารด้วยรากฐานของงานวิจัย เพื่อหาโจทย์หรือนำปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารมาวางกรอบแนวทางการวิจัย และการดำเนินงานสำหรับการพัฒนาเป็นโครงการวิจัย และโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมอาหารในปี 2551 เพื่อปรับปรุงเครื่องจักร เทคโนโลยีการกระบวนการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภคต่อไป