เนื้อหาวันที่ : 2007-09-26 09:25:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1735 views

ก.พลังงาน เปิดสวนพลังงานแสงอาทิตย์ ศูนย์เรียนรู้เชิงพาณิชย์

ก.พลังงาน เปิดตัวสวนพลังงานแสงอาทิตย์ เชื่อเป็นศูนย์กลางการการสาธิต การเรียนรู้ วิจัย พัฒนา สู่อุตสาหกรรม เป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ และที่สำคัญยังเป็นศูนย์กลางความร่วมมือการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ระหว่างประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ก.พลังงาน เปิดตัวสวนพลังงานแสงอาทิตย์ เชื่อเป็นศูนย์กลางการการสาธิต การเรียนรู้ วิจัย พัฒนา สู่อุตสาหกรรม เป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ และที่สำคัญยังเป็นแหล่งกลางความร่วมมือการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ระหว่างประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

.

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ของการศึกษาวิจัยด้านพลังงาน จึงได้สนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ในการศึกษา  วิจัย   และพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานทดแทน มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการศึกษาและวิเคราะห์หาแนวทางในการนำความร้อนทิ้งกลับมาใช้ใหม่ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำระดับหมู่บ้าน เป็นต้น

.

โดยการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และ "สวนพลังงานแสงอาทิตย์" เป็นอีกโครงการ ที่กองทุนฯ ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน  80 ล้านบาท ให้แก่มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อจัดสร้างสวนพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นในประเทศไทยเพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สำหรับเป็นสถานที่ศึกษาวิจัย สาธิตและฝึกอบรมการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านแสงอาทิตย์ ร่วมทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเป็นตลาดกลางในการซื้อขายอุปกรณ์ในราคาที่ยุติธรรมอีกด้วย

.

"สวนพลังงานฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร จะเป็นแบบอย่างด้านการเรียนรู้ การศึกษาวิจัยพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานทดแทน สู่อุตสาหกรรม เป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ และที่สำคัญยังเป็นแหล่งกลางความร่วมมือการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ระหว่างประเทศ ซึ่งจะได้การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพลังงานที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยและประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

.

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงษ์ รักษ์วิเชียร์  ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า สวนพลังงานแสงอาทิตย์ ได้จัดสร้างบนพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ ในมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ด้วยการสนับสนุนค่าก่อสร้าง จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน  โดยในส่วนการติดตั้งระบบและอุปกรณ์ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ  มีมูลค่ารวมถึง 500 ล้านบาท

.

โดยมีรูปแบบและเอกลักษณ์ที่เป็นเมืองพลังงานทดแทนซึ่งมีระบบการใช้งานของพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ ได้แก่ เครื่องอบแห้ง เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องผลิตไอน้ำความดันสูง และเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล การผลิตไฟฟ้าจากเซลแสงอาทิตย์ และไฟฟ้าจากความร้อนพลังงานแสงอาทิตย์  อุณภูมิสูง ซึ่งสาธิตการใช้ไฟฟ้าทั้งในระบบ Stand Alone และGrid Connection

.

สำหรับในส่วนของสวนพลังงานฯ ได้มีการแบ่งพื้นที่การเรียนรู้ออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนทดสอบ มาตรฐานอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสถานที่ในการทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ 2.ส่วนบริการและฝึกอบรม เป็นการให้พื้นฐานความรู้ทางด้านพลังงานแสงอาทิตย์แก่เยาวชน นักศึกษา รวมทั้งยังเป็นสถานที่อบรมวิธีการใช้ ซ่อมบำรุง 3.ส่วนสาธิต การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จะให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ในสภาพการใช้งานจริง

.

4.ส่วนศูนย์ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมและการซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งบริการก่อนและหลังการขาย การติดตั้ง การดูแล บำรุงรักษา และ 5.ส่วนหมู่บ้าน พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่จัดสร้างขึ้นให้มีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ทั้งหมด สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ ภายในบ้านประกอบไปด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เช่น ระบบแสงสว่าง เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

.

"สวนพลังงานฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร ถือเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา การฝึกอบรม การพัฒนาบุคลากร ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาพลังงานทดแทนให้แก่ประเทศไทยและนานาชาติทั่วโลก พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรจะใช้สวนพลังงานฯ แห่งนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสนองตอบต่อนโยบายของรัฐต่อไป" ดร.วัฒนพงษ์ กล่าว