เนื้อหาวันที่ : 2017-06-13 14:13:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1405 views

สองนักศึกษาม.เอเชียอาคเนย์ คว้ารางวัลชนะเลิศ ICDL Digital Challenge 2017 เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าแข่งขันระดับโลก

นักศึกษามหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ เป็นตัวแทนประเทศไทยผ่านเข้าไปแข่งขัน ICDL Digital Challenge 2017 ในระดับนานาชาติที่ประเทศสิงคโปร์ หลังคว้ารางวัลชนะเลิศพร้อมกันถึง 2 คน เผยการแข่งขัน ICDL จะช่วยยกระดับความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและเพิ่มขีดความสามารถการใช้คอมพิวเตอร์ และพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะทางด้านไอทีและภาษาอังกฤษ สามารถนำไปใช้งานจริงได้ และถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะให้นักศึกษาแสดงศักยภาพและเป็นโอกาสที่ดีที่จะพัฒนาตัวเองควบคู่ไปกับการแข่งขันทั้งระดับในประเทศและนานาชาติ

นายฉัททวุฒิ พีชผล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ (SAU) กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ได้ส่งนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขัน ICDL Digital Challenge 2017 เพื่อหาตัวแทนของไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจากการแข่งขันครั้งนี้ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ถึง 2 คน ได้แก่ นางสาวปิยะมาศ สมพันธ์แพ และ นายทัศพันธุ์ งามสมพรพงศ์ นักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ประเภทความรู้ทักษะดิจิทัล โดยนักศึกษาทั้งสองคนจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับนานาชาติที่ประเทศสิงคโปร์ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2017 นี้ สำหรับการแข่งขัน ICDL Digital Challenge 2017 ในระดับประเทศในปีนี้ และยังมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอเชียอาคเนย์ ที่ได้รับรางวัลเพิ่มเติมจากการแข่งขัน ได้แก่ รองชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญเงิน คือ นางสาวสุปาณี วันชะนะ นักศึกษาสาขาวิชาทรัพยากรมนุษย์ คณะบริหารธุรกิจ และ รองชนะเลิศอันดับ 2 เหรียญทองแดง ได้แก่ นางสาวเกษจราภรณ์ เจริญศิลาวาทย์ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอเชียอาคเนย์ โดยเรามุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความสามารถทำงานได้จริง ทักษะในด้านไอทีจะมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันทาง SAU ได้ใช้เกณฑ์มาตรฐานสากล ICDL (International Computer Driving Licence) ให้นักศึกษาทุกคนต้องเรียนและสอบเพื่อให้ผู้ใช้บัณฑิตมีความมั่นใจว่านักศึกษาที่จบจาก ม.เอเชียอาคเนย์ จะมีความสามารถในการใช้ระบบไอทีพื้นฐานได้อย่างดี โดย ICDL นี้เป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกมากกว่า 148 ประเทศ และยังได้รับการลงนามรับรองโดยหน่วยงาน รัฐบาล และสมาคมด้านคอมพิวเตอร์ รวมทั้งสหประชาชาติ ยูเนสโก และบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ซึ่งมาตรฐานนี้เปรียบเสมือนใบรับรองที่ออกโดยหน่วยงานระดับโลกที่ได้รับการยอมรับถึงความเที่ยงตรงในการวัดผลความรู้และความสามารถในการใช้งานระบบไอทีของนักศึกษา ทางมหาวิทยาลัยมองเห็นว่ามาตรฐานนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพและให้ความมั่นใจแก่ผู้ใช้บัณฑิตทุกสาขาวิชาในอนาคตได้อย่างดี จึงมุ่งทุ่มทรัพยากรอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนานักศึกษา ให้มีความพร้อมต่อการทำงานของนักศึกษาในโลกอนาคตอย่างแท้จริง"