เนื้อหาวันที่ : 2017-05-23 13:52:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1667 views

SMEs แปรรูปยางพารา จ่อขอ มอก. กว่า 10 ราย สมอ. เตรียมลงใต้พัฒนาผู้ประกอบการยางผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน เร่งนำยางธรรมชาติมาใช้ในอุตสาหกรรมให้มากขึ้น

สมอ. หนุนผู้ประกอบการ SMEs “หมอนและที่นอนยางพารา” ขอ มอก. ดึงแล็ป 5 แห่งรองรับการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน หลังลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์จนสามารถขอ มอก. ได้ สนองนโยบายรัฐบาลแก้ปัญหาเกษตรกรชาวสวนยางอย่างยั่งยืน เตรียมลงใต้ 24 พ.ค. นี้ที่จังหวัดสงขลา พัฒนาผู้ประกอบการยางผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน เร่งนำยางธรรมชาติมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น 

นายพิสิฐ รังสฤษฏ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังนำคณะเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์หมอนและที่นอนยางพาราธรรมชาติ จังหวัดปทุมธานี ของบริษัท เนเชอรัล เลเท็กซ์ แมทเทรส อินดัสตรี (ไทยแลนด์) จำกัดว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs อย่างต่อเนื่องตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งมาตรการด้านการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน มาตรการด้านภาษีและมาตรการด้านการเพิ่มขีดความสามารถให้ SMEs เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ การตลาด และโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และช่วยพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับ SMEs ไทยให้สามารถก้าวสู่สากล

“บริษัท เนเชอรัล เลเท็กซ์ แมทเทรส อินดัสตรี (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้ประกอบการ SME ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมาตรฐาน โดยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัททั้งหมอนและที่นอนจากยางพาราให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งบริษัทได้ยื่นขออนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. ในผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา มอก. 2741-2559 และผลิตภัณฑ์ที่นอนยางพารา มอก.2747-2559 เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะได้รับการรับรองเร็ว ๆ นี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรอผลทดสอบจากห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ หากผลการทดสอบผ่าน สมอ. ก็จะออกใบอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานได้” เลขาธิการ สมอ. กล่าว

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สมอ. ขานรับนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาวิกฤตราคายางพาราอย่างยั่งยืน โดยเร่งรัดดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ทำจากยางพารา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราให้มีการนำยางพารามาใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะส่งผลให้น้ำยางพาราที่เกษตรกรผลิตขึ้นมีการซื้อขายทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่าราคายางในประเทศ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐาน และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราให้มากยิ่งขึ้น โดย สมอ. ได้

กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราและประกาศใช้แล้วจำนวน 155 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานบังคับที่ต้องมีความปลอดภัยเป็นพิเศษจำนวน 3 มาตรฐาน ได้แก่ มอก.683–2530 ยางในรถจักรยานยนต์ มอก.969-2533 หัวนมยางสำหรับขวดนม และ มอก.1025–2539 หัวนมยางดูดเล่น  นอกจากนี้ สมอ. ยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานวิจัยยางของประเทศในการผลักดันมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางที่กำหนดขึ้นจากการวิจัยในประเทศประกาศเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ (มาตรฐาน ISO) หลายมาตรฐาน และยังได้ปรับมาตรฐาน สาขาผลิตภัณฑ์ยางให้สอดคล้องกันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน จำนวน 56 มาตรฐาน

อีกกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญคือ การส่งเสริมมาตรฐาน สมอ. ได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำด้านการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ และเตรียมความพร้อมของโรงงานในการยื่นคำขอ ณ สถานประกอบการในจังหวัดสตูล พัทลุง ตรัง และยะลา ขณะนี้มีผู้ประกอบการยื่นขอการรับรอง มอก. แล้ว 14 ราย เป็นผู้ผลิตหมอนยางพารา จำนวน 3 ราย และผู้ผลิตที่นอนยางพารา อีกจำนวน 11 ราย นอกจากนี้ สมอ. ยังเตรียมลงพื้นที่ภาคใต้ในวันที่ 24 พฤษภาคม นี้ ที่อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการผู้ผลิตที่นอนและหมอนยางพารา กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ ในการพัฒนาคุณภาพสินค้ายางพาราให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สร้างความเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนการขอรับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน โดยมีแผนที่จะลงพื้นที่อีกครั้งในภาคตะวันออกในเดือนกรกฎาคม 2560 ที่จังหวัดระยอง ผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางพาราสนใจจะเข้าร่วมอบรมสัมมนา ติดต่อได้ที่กลุ่มพัฒนาผู้ประกอบการ กองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน สมอ. โทร 0 2202 3431 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

“จากข้อปัญหาที่ผู้ประกอบการหลายๆ ฝ่ายกังวลว่า เมื่อยื่นคำขอแล้ว จะมีห้องแล็ปพร้อมทดสอบหรือไม่ ในเรื่องนี้ สมอ. ได้เตรียมความพร้อมของห้องแล็ปของหน่วยงานที่ทำการทดสอบผลิตภัณฑ์จากยางพาราไว้แล้ว 5 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันยานยนต์  ศูนย์วิจัยยาง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับผู้ประกอบการที่จะมายื่นขอการรับรอง” เลขาธิการ สมอ. กล่าวท้ายสุด