จากการที่ บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 400 ล้านบาท ตามแผนการปรับปรุงโรงงานที่เสนอต่อคณะกรรมการเบญจภาคีตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่ผ่านมา บัดนี้ แผนงานดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงแล้วครบถ้วน จากเดิมที่กำหนดไว้ภายในเดือนมิถุนายน 2560 ทำให้การควบคุมกลิ่นจะสามารถทำได้ดียิ่งขึ้นจากเดิม
ผู้แทนของโรงงานไทยเรยอน จึงได้รายงานความคืบหน้าเรื่องการปรับปรุงโรงงานต่อคณะกรรมการเบญจภาคี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2560 ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ลงมติอนุมัติให้โรงงานไทยเรยอนเดินเครื่องการผลิตเต็ม 100% เป็นระยะเวลา 60 วัน เพื่อทดสอบระบบทั้งหมดดังกล่าว ทางโรงงานจึงเร่งดำเนินการเปิดใช้ระบบกู้คืนก๊าซ CS2 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) ได้ทำการติดตั้งระบบบำบัดอากาศชุดใหม่ หรือที่เรียกว่า “ระบบกู้คืนคาร์บอนไดซัลไฟด์” ชุดที่ 1 และเดินระบบตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2559 ใช้เงินทุนทั้งสิ้น 317 ล้านบาท ซึ่งค่าก๊าซที่ได้ในขณะนั้นมีค่าต่ำลงและไม่เกินข้อกำหนดของกฏหมาย ถึงแม้ค่าต่าง ๆ จะไม่เกินจากที่ทางกฎหมายกำหนด แต่ทางบริษัทมีเจตนาที่จะอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงได้ลงทุนเพิ่มอีก 149 ล้านบาทเพื่อทำการติดตั้งระบบกู้คืนคาร์บอนไดซัลไฟด์ชุดที่ 2 ซึ่งทำให้ในปัจจุบันนี้ค่าก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) ที่ปล่อยสู่บรรยากาศลดลงเหลือเพียง 3-6 ส่วนในล้านส่วน ในขณะที่ข้อกำหนดของกรมควบคุมมลพิษ ค่าที่สามารถปล่อยสู่บรรยากาศได้อยู่ที่ 100 ส่วนในล้าน ส่วนค่าคาร์บอนไดซัลไฟด์ที่ปล่อยออกจากบริษัทจะเหลือเพียง 600–700 ส่วนในล้านส่วนเท่านั้น
นอกจากนี้ โรงงานไทยเรยอนยังได้จัดจ้างที่ปรึกษาพิเศษจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้เข้ามาตรวจสอบระบบ ประเมินผลการควบคุมระดับกลิ่น ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ จึงทำให้มั่นใจได้ว่า โรงงานจะสามารถควบคุมกลิ่นให้อยู่ในระดับที่เป็นที่ยอมรับของชุมชนอย่างมากที่สุด
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าผลการตรวจวัดระดับกลิ่นโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอ่างทอง และคณะทำงานของโรงงานไทยเรยอนเอง พบว่า อยู่ในระดับเฉลี่ย 2-3 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและไม่เป็นอันตราย แต่ทางโรงงานก็ยังคงเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจตามจุดต่าง ๆ ทั้งในโรงงานและรอบโรงงานเพื่อพิสูจน์การรั่วไหลต่าง ๆ ตลอดเวลา เพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขอย่างทันท่วงที
โรงงานไทยเรยอน มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการเบญจภาคีและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ปัญหาเรื่องกลิ่นจากการประกอบกิจการลดลงให้มากที่สุด และเป็นที่ยอมรับของชุมชน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน