รักกิจ ควรหาเวช ศิลปินสตรีทอาร์ทแถวหน้าของเมืองไทย ร่วมกับ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ปลุกแรงบันดาลใจให้ชาวดิจิทัลยุคใหม่ใช้ซอฟต์แวร์แท้ เพื่อแสดงตัวตนที่ชัดเจนผลักดันการใช้ของแท้เพื่อความปลอดภัยในโลกไซเบอร์บนงานกราฟฟิครูปสัตว์แนวสตรีทสีสันจัดจ้าน พร้อมแฮชแทกแคมเปญ #RealSoftwareRealMe แสดงออกถึงจุดยืนของตนเองที่ชัดเจนแท้จริง พร้อมรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่หรือประชาชนชาวดิจิทัลให้ใส่ใจต่อผลกระทบที่จะตามมาหากใช้ซอฟท์แวร์ผี
สำหรับงานดีไซน์ในครั้งนี้ รักกิจ ศิลปินเนื้อหอมแนวสตรีทอาร์ตผู้มีผลงานแนวกราฟฟิตี้รูปสัตว์ ที่ใช้สีสันลายเส้นเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น และหลายคนกำลังพูดถึงในขณะนี้ เล่าถึงที่มาการคิดงานชิ้นนี้ให้ไมโครซอฟท์ว่า เลือกใช้หมีเป็นสัญลักษณ์เนื่องจากเป็นสัตว์ที่บ่งบอกถึงความกล้าหาญ เข้มแข็ง มีจุดยืนมั่นคงในการทำสิ่งที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์ที่ รักกิจ ใช้ออกแบบบ่อยครั้งมากที่สุดเนื่องจากเป็นสัตว์ที่ใกล้เคียงกับตัวตนของเขา
ผลสำรวจล่าสุด*ยังพบว่า อัตราส่วนการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนในประเทศไทยยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ถึงแม้จะมีอัตราลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งในปี 2559 อยู่ที่ 67% ลดลงต่อเนื่องจากปีก่อนไม่มากนักเพียง 2% และยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ 61% และในระดับโลกที่ 39% ซึ่งลดลงในอัตราที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็นทั้งนี้ เพราะคนไทยยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาด้านความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของตนเองบนโลกออนไลน์ บางส่วนยังมีความเชื่อผิด ๆ ว่าการซื้อซอฟต์แวร์แท้มีราคาแพง จึงยอมเสี่ยงชีวิตบนโลกออนไลน์ต่อการติดมัลแวร์ ซึ่งอาจทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เสียหายมากกว่าการจ่ายเงินเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อย อีกทั้งถ้าทุกคนหันมาใช้ซอฟต์แวร์แท้ที่มีระบบการป้องกันการบุกรุกออนไลน์ โลกไซเบอร์จะเป็นโลกที่ปลอดภัยกว่าเดิมมาก รวมถึงผลทางอ้อมจากการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นๆ ด้วยความเห็นจากการใช้งานจริง
“ในฐานะศิลปินผู้มีผลงานจากการทุ่มเททางความคิดและลงมือสร้างสรรค์ การถูกก็อปปี้ขโมยผลงานถือเป็นฝันร้ายของศิลปินทุกคน และไม่มีใครอยากให้คนอื่นนำสิ่งที่เราคิดสร้างสรรค์ไปหาผลประโยชน์จากไอเดียและน้ำพักนำแรงของเราอย่างแน่นอน ผมอยากสนับสนุนให้คนที่ใช้ของแท้ได้มีที่ยืน และแสดงออกให้เป็นตัวอย่างกับคนอื่น ว่าการยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่น่าทำตาม และพวกคุณคือจุดเปลี่ยนทางค่านิยมให้กับสังคมไทย” รักกิจ กล่าว
*ผลสำรวจจาก บีเอสเอ พันธมิตรซอฟต์แวร์ พฤษภาคม 2559
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ข่าวสารประเทศไทย http://news.microsoft.com/th-th/