Phuket Smart City หรือ โครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ดำเนินโครงการโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ซึ่งมีการขับเคลื่อนโครงการตามยุทธศาสตร์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และพันธมิตรต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ มุ่งทำงานเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา หรือสถาบันวิจัยในพื้นที่ โดยนำเทคโนโลยี Big Data มาจัดการข้อมูลเมือง ร่วมกันผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็น Smart City ทั้งด้านการค้า และการลงทุน
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อติดตามความก้าวหน้า การดำเนินโครงการ Phuket Smart City ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) ทั้งนี้เพื่อให้โครงการ Phuket Smart City ขับเคลื่อนไปตามยุทธศาสตร์ พร้อมทั้งขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ASEAN Economic Community (AEC)
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจทัล Thailand 4.0 โดยพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีความพร้อมมากกว่าเดิมทั้งเรื่องการปรับเปลี่ยน แก้ไข ระเบียบ ข้อบังคับอันเป็นการกำจัดโอกาสในการลงทุน และควรได้รับสิทธิประโยชน์อันเป็นสิ่งสำคัญในการกระตุ้นการดำเนินงาน และการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐบาลจึงได้กำหนดแนวทางให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในรูปแบบคลัสเตอร์ที่มีความเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา หรือสถาบันวิจัยในพื้นที่ จัดให้มีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ และช่วยกันผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมทางด้านดิจิทัลให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการ พร้อมตั้งเป้าให้ จ.ภูเก็ต เป็น Smart City ทั้งด้านการค้า การลงทุน โดยให้อุตสาหกรรมดิจิทัลขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้เติมโตไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้เพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งมีความอ่อนไหว และถ้าโครงการนี้ดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบเชื่อมั่นว่าจะทำให้เศรษฐกิจของ จ.ภูเก็ตขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4.5% ต่อปี ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ปัจจุบัน นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่วันนี้ โครงการ Phuket Smart City มีพัฒนาการหลายด้าน และทราบว่ามีแนวทางการดำเนินโครงการในหลายมิติ เพื่อพัฒนา จ.ภูเก็ตให้กลายเป็น Smart City ล่าสุดยังมีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศดิจิทัลภูเก็ต (Centre of Digital Excellence Phuket: CODE Phuket) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence: CoE) รองรับมาตรการพิเศษสำหรับ Digital Worker หรือบริษัทด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ที่จะมาทำงานหรือลงทุนในประเทศไทยในลักษณะทำงานร่วมกันกับพันธมิตรในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ร่วมทำงานกับดีป้าอย่างใกล้ชิด โดยมุ่งให้คำปรึกษา ถ่ายทอดความรู้ขั้นสูงในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ วิธีการมาตรฐานในการเพิ่มคุณภาพของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และซอฟต์แวร์ โดยอาศัยหลักการทางวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) ที่เน้นความร่วมมือในการวิจัย และพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรม การทำต้นแบบ (Prototyping) และ Proof of Concept ที่เอื้อให้กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลในไทยนำไปพัฒนาต่อเพื่อออกสู่เชิงพาณิชย์ได้
รวมทั้ง จ.ภูเก็ต เติบโตอย่างรวดเร็ว จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดภูเก็ต (GPP) ในปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 137,901 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อคนต่อปี (GPP Per Capita) อยู่ที่ 258,817 บาท/คน/ปี เป็นอันดับที่ 1 ของภาค และอันดับที่ 10 ของประเทศ มีรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2559 ประมาณ 341 แสนล้านบาท
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กล่าวว่า โครงการ Phuket Smart City มีแนวทางการดำเนินงานโครงการชัดเจน โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 Phase ประกอบด้วย
Phase 1: มีการนำ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการพัฒนาเมืองให้กลายเป็น Smart City ในมิติต่าง ๆ อาทิ มิติด้านการค้าและเศรษฐกิจ (Smart Economy) ด้านการท่องเที่ยว (Smart Tourism) ด้านสาธารณสุข (Smart Health) ด้านการดำเนินชีวิต ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม (Smart Living) การบริหารเมืองแบบ Smart City โดยมุ่งการผสมผสานการได้มาของข้อมูลทั้งในลักษณะข้อมูลเชิงสำรวจแบบสถิติ และข้อมูลที่จัดเก็บได้แบบปัจจุบันโดยใช้เทคโนโลยี Internet of Things เช่น Sensor, CCTV รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลจากสังคมออนไลน์ ทำให้เมืองสามารถมีข้อมูลในการบริหารอย่างชาญฉลาด
Phase 2: การบริการภาครัฐ (e Government) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการเข้าถึงการบริการของภาครัฐ โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุน การเริ่มทำธุรกิจ และการอนุมัติ อนุญาตต่าง ๆ รวมถึงการเปิดให้เกิดการเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ (Open Data) เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและนำข้อมูลมาใช้ในเชิงนโยบายเพื่อการบริหารจัดการได้
Phase 3: เป็นเฟสของการส่งเสริมให้ Smart City เกิดความยั่งยืน เน้นที่การใช้ประโยชน์จากการเตรียมการด้านดิจิทัลทั้งหมด โดยร่วมมือกับภาคเอกชน และท้องถิ่น โดย ดีป้าจะเป็นผู้ประสานงานกับ CEO จังหวัดนั่นๆ ก็คือ
ผู้ว่าฯ ช่วยกันวางแผนให้เกิดการบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลเป็นผู้ดูแลการเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน, Content และ Big Data ส่วนการบริหารจัดการจะดำเนินการโดย หน่วยงานท้องถิ่น คือจังหวัด หรือเมือง อาทิ eService, eMarket Place ซึ่งส่วนนี้ผู้ที่ได้ประโยชน์จะเป็นคนดูแล
รวมทั้งดีป้า ยังสร้าง Ecosystem ของ Startup ในภูเก็ต เพื่อให้เกิดการพัฒนา Smart City อย่างยั่งยืนต่อไป และงานทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่น การลงทุน ความสะดวกสบาย และความปลอดภัย ดึงดูดให้เกิดการลงทุน และการหลั่งไหลของ Digital Worker และ Digital Talent จากต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการส่งออกผ่านระบบ
eLogistic, eMarketplace, ePayment ด้วย