(29 มีนาคม 2560) ในงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2560 หรือ NAC2017 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี-สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สถาบันวิจัยการเกษตรและป่าไม้แห่งชาติ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดย Dr. Bounthong BOUAHOM (ดร.บุญถอง บัวหอม) ผู้อำนวยการสถาบันการวิจัยการเกษตรและป่าไม้แห่งชาติ (NAFRI) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและงานวิจัย เพื่อร่วมกันดำเนินงานวิจัยและพัฒนาสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตร โดยมีกรอบระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี (พ.ศ.2560-2565)
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า “ประเทศสมาชิกของอาเซียนยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการก้าวไปสู่ตลาดการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สวทช. โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน ในปี 2544 เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงส่งเสริมการสร้างเครือข่ายนักวิจัยในภูมิภาค เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ของภูมิภาคอาเซียนในปี 2563 ที่ต้องการขับเคลื่อนการแข่งขันทางเทคโนโลยี ทั้งในเชิงกลยุทธ์ และการพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ ดังนั้น โครงการนี้จึงเป็นหนึ่งในโครงการที่ไบโอเทค ผลักดันให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของภูมิภาค และช่วยสร้างความสามารถทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพให้กับภูมิภาคอาเซียน โดยการให้ทุนสำหรับนักวิจัยเพื่อทำวิจัยในห้องปฏิบัติการวิจัยของไบโอเทค เป็นเวลา 3-6 เดือน หลักสูตรฝึกอบรมเน้นการให้ความรู้พื้นฐานทางเทคโนโลยีชีวภาพและการปฏิบัติจริง โดยมีนักวิจัย พี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำในการทำโครงการวิจัย”
กว่า 16 ปี ไบโอเทคได้ดำเนินโครงการนี้ มีนักวิจัยต่างชาติ ได้ทุน 179 ทุน จำนวนหนึ่งได้ทุนการศึกษาขั้นสูงเรียนต่อในประเทศต่าง ๆ และนักวิจัยที่กลับไปทำงานที่สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยต้นสังกัดในประเทศต่าง ๆ ได้มีการสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ กับนักวิจัยไบโอเทคอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ข้าวผ่านการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่มีการปฏิบัติงานระยะยาวโดยใช้โจทย์วิจัยของแต่ละประเทศเป็นหัวข้อในการฝึกอบรม การสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ทดสอบลักษณะสำคัญทางการเกษตรต่างๆ อาทิ สถาบันวิจัยการเกษตรและป่าไม้แห่งชาติ สปป.ลาว ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวหอม ท่าดอกคำ 1 ที่มีความหอม และคุณภาพการหุงต้มดีกว่าพันธุ์ดั้งเดิม สายพันธุ์ข้าวเจ้าเซบั้งไฟ 2 และเซบั้งไฟ 3 ซึ่งปรับตัวได้ดีทั้งในสภาพน้ำมากและน้ำน้อย และมีคุณภาพการหุงต้มดี และหอม เซบั้งไฟ 4 ซึ่งเป็นข้าวเหนียว ที่มีความหอมทนน้ำท่วม และต้านทานโรคไหม้ เป็นต้น จึงเป็นที่มาของการทำความร่วมมือระหว่างกันในวันนี้
“จากความร่วมมือดังกล่าว สวทช. และสถาบันวิจัยการเกษตรและป่าไม้แห่งชาติ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้หารือและเห็นชอบร่วมกันในการจัดทําบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและงานวิจัย ระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี (ปี 2560-2565) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันดำเนินงานวิจัยและพัฒนา การสร้างขีดความสามารถ และการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตร เช่น การเก็บรวบรวมและประเมินเชื้อพันธุกรรมของข้าว ข้าวโพด และพืชอื่น ทั้งลักษณะฟีโนไทป์ และลักษณะจีโนไทป์ เป็นต้น นับเป็นการช่วยสร้างความสามารถทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพให้กับภูมิภาคอาเซียน ทั้งการพัฒนาบุคลากรและการวิจัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความเข้มแข็งด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนร่วมกัน” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว