กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงคมนาคม และ กรุงเทพมหานคร เปิดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560” หรือ “SETA 2017” ปีที่ 2 ภายใต้ธีม “Towards A Low-Carbon Society” ใน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ นโยบายและการวางแผนด้านพลังงาน เทคโนโลยีระบบผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อปล่อยคาร์บอนต่ำ พลังงานเพื่อการคมนาคมขนส่งเพื่อปล่อยคาร์บอนต่ำ และ เมืองอัจฉริยะและอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อผลักดันและพัฒนาองค์ความรู้ด้านพลังงานและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้เน้นเทรนด์อุตสาหกรรมไฮบริด และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยงานจัดระหว่างวันที่ 8-10 มีนาคม 2560 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “รัฐบาลมีการดำเนินการเพื่อให้พลังงานมีเสถียรภาพที่เหมาะสม โดยการสร้างความมั่นคงในด้านพลังงานทุกรูปแบบของประเทศ ที่ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิต ขนส่ง จำหน่าย และการกระจาย ให้ต้นทุนราคาพลังงานอยู่ในระดับที่เหมาะสม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประชาชนไม่แบกรับภาระมากเกินไป ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการประหยัดพลังงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับงาน SETA 2017 นับเป็นปีที่ 2 แล้ว ที่ประเทศไทยจะได้แสดงถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาภาคพลังงานของประเทศ และศักยภาพในการพัฒนาสู่ความเป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาคเอเชีย เชื่อมความร่วมมือของประเทศในเอเชีย โดยมีผู้นำประเทศ และผู้นำทางความคิดจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม เปิดโอกาสให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ได้เรียนรู้แนวความคิด การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการประชุม อภิปราย และการจับคู่เพื่อเจรจาทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในงานนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทย ได้มองเห็นโอกาสในการขยายการลงทุนด้านพลังงานในต่างประเทศอีกด้วย”
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “นโยบาย Energy 4.0 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 เป็นนโยบายภาพใหญ่เพื่อยกระดับประชาชนให้มีความสามารถทางการแข่งขัน และมีรายได้สูงขึ้น เช่น โครงการ Smart Cities คือ การพัฒนาชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ โดยเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้โครงข่าย Smart Grid หรือระบบบริหารจัดการเครือข่ายพลังงานอัจริยะ ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสะดวกสบาย ลดการใช้พลังงาน เกิดการใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้าง Smart Building ติดตั้ง Smart Meter เป็นข้อมูลการบริหารจัดการไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด จัดหาไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้า ขยายจุดเติมไฟฟ้าไปตามจุดสำคัญต่าง ๆ เช่น ศูนย์การค้า ที่จอดรถ ส่วนราชการ รวมถึงการทำรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วยลดมลภาวะทางด้านเสียงและอากาศให้กับสิ่งแวดล้อม การวิจัยแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ เพื่อให้จุไฟได้มากขึ้น เรียกว่า Energy Storage เพื่อให้มีขนาดเล็กลง มีคุณภาพ และราคาถูก ในการบริหารจัดการพลังงานในประเทศ มีปัจจัยที่เป็นตัวแปรหลายอย่าง กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการให้เกิดความสมดุลทั้งด้านความมั่นคง ความเป็นธรรม สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน”
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า “กระทรวงคมนาคมได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 - 2579 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยในอนาคต โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต พฤติกรรมการเดินทาง และความต้องการในการเดินทางของประชาชน ภายใต้ 3 แนวคิด คือ การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transport) มุ่งเน้นการลดใช้พลังงานฟอสซิล ปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือก และส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ (Transport Efficiency) เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์โดยลดต้นทุนโลจิสติกส์ ส่งเสริมการขนส่งทางรางและทางน้ำให้เป็นรูปแบบการขนส่งหลัก โดยมีการขนส่งทางถนนเป็นระบบสนับสนุน และการเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (Inclusive Transport) การยกระดับการขนส่งให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ทุกกลุ่ม ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการระบบขนส่งมวลชนและระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก มีค่าโดยสารที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย”
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กระทรวงฯ ยังคงเดินหน้าสนับสนุนการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้มีความสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2560-2579) ซึ่งต้องการเพิ่มขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจของประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน โดยใช้องค์ความรู้เพื่อเป็นพื้นฐานในการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับด้านเกษตร อาหารและพลังงานทดแทน อีกทั้งนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถ่ายทอดไปสู่โรงเรียน ชุมชน ทั่วประเทศ”
นอกจากนี้ ยังมีการจัดให้มีการบรรยาย ประชุมสัมมนา และเวิร์คช็อปจากองค์กรระดับนานาชาติ และบริษัทที่เป็นผู้นำในหัวข้อต่างๆ อาทิ “CEO Energy Forum” โดยรวบรวมกูรูด้านพลังงานระดับโลก และเจาะลึกนโยบายพลังงานและความร่วมมือในระดับภูมิภาคใน “CLMVT Energy Forum“ Financing in Energy โดย Reliott” “Hybrid & EV Technology Zone” เป็นต้น
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ในเว็บไซต์ www.SETA.Asia
งานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ “โครงการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2560” หรือ “SETA 2017” มีผู้เข้าร่วมงานเป็นผู้บริหาร ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ผู้ผลิต บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้า นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ บริษัทผู้ผลิตพลังงานทดแทน ธนาคาร นักลงทุน จากทุกภาคส่วนและผู้สนใจทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ กว่า 5,000 คน พื้นที่จัดงาน 9,000 ตารางเมตร บูธจัดงาน กว่า 150 บูธ โดยมีโซนไฮบริดและเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า โซนโซล่าเซลส์ และโซนระบบเมืองอัจฉริยะ จากเมืองโตเกียวและกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงพาวิเลียนจากต่างประเทศ กว่า 40 ประเทศ พร้อมกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ อาทิ ประเทศแคนาดา เยอรมัน ไต้หวัน เกาหลี จีน ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 มีนาคม 2560 เวลา 10.00-18.00 น. ณ ฮอลล์ 103-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา