เนื้อหาวันที่ : 2017-03-03 17:13:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1722 views

พวอ. หนุนผู้ประกอบการต่อยอดธุรกิจปั้นเงินล้าน

สกว.โดย พวอ.จัดเวทีหนุนผู้ประกอบการไทยต่อยอดธุรกิจเงินล้านจากงานวิจัยและพัฒนา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม นักวิจัยแนะช่องทางก้าวข้ามวังวนกับดักรายได้ปานกลางด้วยการสร้าง “อาหารแห่งอนาคต” ผ่านอุตสาหกรรมวิจัยและผลิตโภชนาการเพื่อสุขภาพ

รศ.ดร.ประเสริฐ ภวสันต์ ผู้อำนวยการ พวอ.

โครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยชุดโครงการพัฒนาหัวข้อวิจัยเชิงรุกสำหรับภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2560 จัดการบรรยายพิเศษหัวข้อ “รับทุนวิจัยหนุนผู้ประกอบการไทยต่อยอดธุรกิจปั้นเงินล้าน” เพื่อประชาสัมพันธ์ทุนวิจัยของ พวอ. แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงาน Thailand Industrial Fair 2017 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ให้ได้รับทราบมุมมองในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรมและมุมมองจากผู้ประกอบการที่นำผลงานไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจ ตลอดจนการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และการประชาสัมพันธ์ทุนวิจัย พอว. โดย รศ.ดร.ประเสริฐ ภวสันต์ ผู้อำนวยการ พวอ.

ดร.ญาดา มุกดาพิทักษ์ รองเลขาธิการ สวทน.

ดร.ญาดา มุกดาพิทักษ์ รองเลขาธิการ สวทน. กล่าวถึงแนวทางความช่วยเหลือจากภาครัฐสู่ภาคเอกชนว่า มาตรการและกลไกสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องมีการวางแผนกำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ภาคเศรษฐกิจและสังคมมากที่สุด โดยประเด็นสำคัญคือโอกาสและช่องทางสำหรับผู้ประกอบการในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมตามทิศทางการพัฒนาประเทศสู่ประเทศที่ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ทั้งนี้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต้องมาจากการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นหัวใจที่จะทำให้ประเทศก้าวกระโดดได้ แต่ประเทศไทยลงทุนทำวิจัยและพัฒนาน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในปี 2558 มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.62 โดยมีการลงทุนจากภาคเอกชนมากขึ้นคิดเป็นร้อยละ 70 (59.44 ล้านบาท) และตั้งเป้าเพิ่มเป็นร้อยละ 1 ในปี 2561

จากการสำรวจในภาคเอกชนพบว่ากลุ่มอาหารมีการลงทุนทำวิจัยและพัฒนามากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มยานยนต์ แต่เมื่อเทียบกับยอดขายพบว่าภาคการผลิตที่ลงทุนมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มเคมี การจะทำวิจัยได้ดีต้องมีบุคลากรมากเพียงพอโดยเฉพาะในภาคเอกชน ปัจจุบันมีนักวิจัยในภาคเอกชน 4.9 หมื่นคน คิดเป็นร้อยละ 55 แต่ยังมีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกน้อยมาก นอกจากนี้ไทยยังขาดดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นทุกปี รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อเปลี่ยนผ่านโครงสร้างการพัฒนาทั้งระบบ

สำหรับกลไกด้านงบประมาณวิจัยและนวัตกรรมภาครัฐเพื่อสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคเอกชน ปัจจุบันกำลังยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อปลดล็อคอุปสรรคในการวิจัยและพัฒนา โดยให้สิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยแก่ผู้รับทุนภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และมีกฎหมายอนุญาตให้หน่วยงานให้ทุนสามารถให้ทุนแก่ภาคเอกชนได้โดยตรง เพื่อให้เอกชนสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง และมีมาตรการต่าง ๆ เป็นแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ เช่น ลดหย่อนภาษี แจกคูปองนวัตกรรม คูปองสตาร์ทอัพ สนับสนุนเอสเอ็มอีพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) แก่นักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 7 ปี กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยบีโอไอ

รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอด นักวิจัยพัฒนาให้บริษัทขนาดใหญ่

ขณะที่ รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอด นักวิจัยพัฒนาให้บริษัทขนาดใหญ่ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ต้องมีการทำวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ คือ อนาคตราคาวัตถุดิบจะแพงขึ้นเพราะอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอาหารไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง น้ำผลไม้ ผลไม้แปรรูป กุ้ง ปัจจุบันการแข่งขันของตลาดอาหารเน้นเพื่อสุขภาพ ปราศจากสารเคมี ผ่านกระบวนการน้อย จึงต้องมีนวัตกรรมด้านอาหารมากขึ้น เช่น อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารอัดเม็ดหรืออัดแท่ง ดังนั้นเพื่อให้ก้าวข้ามวังวนกับดักประเทศรายได้ปานกลางจำเป็นต้องสร้าง “อาหารแห่งอนาคต” ผ่านอุตสาหกรรมวิจัยและผลิตโภชนาการเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารที่มีการเติมสารอาหาร ผลิตอาหารไทยไขมันต่ำ สารออกฤทธิ์ อาหารทางการแพทย์ อาหารเสริม เป็นต้น

นางวิภาดา พลาธนพร บริษัทฟู้ดเดิ้ล นู้ดเดิ้ล จำกัด

ด้าน นางวิภาดา พลาธนพร บริษัทฟู้ดเดิ้ล นู้ดเดิ้ล จำกัด ผู้ริเริ่มธุรกิจจากความรู้จากงานวิจัยและเจ้าของธุรกิจเส้นก๋วยเตี๋ยวอินทรีย์ หลังประสบปัญหาด้านสุขภาพเมื่อใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ทำให้หันมาค้นคว้าอ่านงานวิจัยและทดลองผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ปราศจากสารเคมีจากข้าวอินทรีย์ทั้งข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวกล้องมะลิแดง และข้าวไรซ์เบอร์รีตั้งแต่ปี 2554 โดยรับซื้อโดยตรงจากเกษตรกร จนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในที่สุด ผลิตภัณฑ์เน้นการส่งออกตลาดในยุโรปและอเมริกาเป็นหลักร้อยละ 99 ส่วนในประเทศจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านเพื่อสุขภาพหรือสินค้าเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันขอทุนวิจัยเพิ่มจาก พวอ. ในระดับปริญญาโทเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่

เส้นก๋วยเตี๋ยวออแกนิก