สวทช.จับมือ สกว. เดินหน้าเฟสสอง ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่การจำหน่ายจริงในเชิงพาณิชย์ พร้อมเปิดตัว “ปอย ตรีชฎา” ในฐานะผู้ประกอบการและนักวิจัยร่วมโครงการผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สร้างมูลค่าเพิ่มจากสมุนไพร
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินโครงการ “การสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระยะที่ 2” เพื่อร่วมกันสนับสนุน SME ให้เข้าถึงและนำนวัตกรรมไปใช้ในการแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาผลิตภัณฑ์จนสามารถผลักดันสินค้าไปสู่การจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้จริง ผ่านการทำงานร่วมกันของโปรแกรม ITAP สวทช. และชุดโครงการ Innovative house สกว. หลังระยะที่ 1 สนับสนุน SME ด้านอาหาร เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมอื่นทั่วประเทศแล้ว 76 บริษัท ตั้งเป้าระยะที่ 2 หนุน SME ให้ได้เพิ่มอีก 110 โครงการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้พัฒนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “สวทช. โดยโปรแกรม ITAP ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 ให้การสนับสนุน SME ไปแล้วไม่น้อยกว่า 7,000 ราย โดย ITAP สรรหาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงกับโจทย์ความต้องการของ SME แต่ละราย มาช่วยในการทำโครงการวิจัยและพัฒนาให้ SME เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม ปัจจุบัน ITAP มีผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมดำเนินงานอยู่ไม่น้อยกว่า 1,300 ราย แต่ยังไม่เพียงพอต่อการให้ความช่วยเหลือ SME ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ยังขาดทรัพยากรด้านต่างๆ สำหรับการวิจัยและพัฒนาทั้งด้านการเงินและบุคลากร โดยความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ได้ดำเนินโครงการร่วมกันในปี 2559 ซึ่งครั้งนี้เป็นการดำเนินต่อเนื่องในระยะที่ 2 เพื่อผลักดันการสร้างนวัตกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายได้จริงในเชิงพาณิชย์ และมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็น SME ด้านอาหาร เกษตรแปรรูปอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ทั่วประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพ รวมทั้งเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สวทช. จะร่วมสนับสนุนงบประมาณการวิจัยและบริหารจัดการทุนวิจัยรวมทั้งผลักดันผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนให้ SME เติบโตบนเศรษฐกิจฐานความรู้ เป็นแกนหลักของประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางต่อไป”
ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ รองผู้อำนวยการ สกว.ด้านการวิจัยมุ่งเป้า กล่าวว่า “สกว. ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอาหาร เพราะประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ต้องการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สกว. จึงร่วมกับ สวทช. สร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจผ่านกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับการจัดการด้านธุรกิจ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถแข่งขันได้ รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถของนักวิจัยให้สามารถทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างมีคุณภาพ ผลการดำเนินงานในระยะที่ 1 ได้รับการตอบรับที่ดี เกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้านอาหารและเครื่องสำอางกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ หลายผลิตภัณฑ์อยู่ระหว่างการทดสอบตลาด และบางผลิตภัณฑ์เริ่มจะผลิตจริงแล้ว สำหรับความร่วมมือในระยะที่ 2 สกว. จะร่วมสนับสนุนงบประมาณการวิจัยและบริหารจัดการทุนวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผลักดันผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากการส่งเสริมกิจกรรมปลายน้ำ เช่น การอบรมให้ความรู้ทางการตลาด การนำผลิตภัณฑ์ไปจัดแสดงทั้งในและต่างประเทศเพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย สกว. หวังว่าโครงการนี้จะทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ เห็นความสำคัญและเกิดการลงทุนทำวิจัย เป็นตัวอย่างในการผลักดันให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ และยังเป็นการส่งเสริมภาคเกษตรด้วยการนำวัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศไปสู่ระดับมหภาคได้อย่างแท้จริง”
ด้าน ดร.ณัฐกา สิงหวิลัย ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สวทช. กล่าวเสริมว่า “สวทช. และ สกว. ร่วมกันสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพ SME กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวคิด “วิจัยได้...ขายจริง” ผ่านกลไกการทำงานของโปรแกรม ITAP สวทช. และชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative house ฝ่ายอุตสาหกรรม ของ สกว. ในการจัดสรรทุนวิจัยให้แก่นักวิจัย คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน ผลดำเนินงานระยะที่ 1 ในปี 2559 ที่ผ่านมา มีโครงการวิจัยทั้งสิ้น 100 โครงการ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 76 บริษัท แบ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม (S) 57 บริษัท และขนาดกลาง (M) 19 บริษัท โดยได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 88 โครงการ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 12 โครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาวิจัยในช่วงต้นน้ำ 7 โครงการ กลางน้ำ 81 โครงการ และปลายน้ำ 12 โครงการ โดยความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ สกว. ในระยะที่ 2 นี้ ได้จัดสรรงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 110 โครงการ ซึ่งทั้ง สวทช. และ สกว. จะร่วมกันบริหารจัดการงานวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อผลักดันงานวิจัยที่เกิดขึ้นให้สามารถขายได้จริง ช่วยยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SME นับว่าเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้สามารถพัฒนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป”
ตัวอย่างผลงานวิจัยจากโครงการในระยะที่ 1 ที่พร้อมออกสู่เชิงพาณิชย์แล้ว เช่น ผลิตภัณฑ์เยลลี่ Mello Bello โดยบริษัท ภัทชนิก จำกัด ได้ต่อยอดผลไม้ที่มีอยู่แล้วเป็นเยลลี่บรรจุน้ำผลไม้สำเร็จรูป เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าจากผลไม้สดสูง มีใยอาหาร เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีเวลาน้อย/ผลิตภัณฑ์สบู่ฟิล์มถั่งเช่าผสมสารสกัดเมล็ดลำไยและขมิ้นชัน โดยบริษัท นาวิสพลัส จำกัด ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สบู่ฟิล์มจากถั่งเช่าสีทองสำหรับล้างหน้าและถูตัว โดยต้องการส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ คือ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น น้ำผึ้ง สารสกัดเมล็ดลำไยและขมิ้นชัน สามารถพกพาสะดวก ใช้งานง่าย เพิ่มความหลากหลายให้กับกลุ่มเครื่องสำอางจากถั่งเช่า/ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักชนิดแคปซูลจากสมุนไพร STAY โดยบริษัท เฟอร์ฟู แปซิฟิก จำกัด ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับลดน้ำหนักชนิดแคปซูลที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากสมุนไพร มีทั้งหมด 4 สูตรที่แตกต่างกันสำหรับคนที่มีหมู่เลือด A B AB และ O มีความคงตัวทางเคมีและกายภาพที่อุณหภูมิห้องอย่างน้อย 1 ปี/ผลิตภัณฑ์มะพร้าวอ่อนแช่เยือกแข็งทั้งลูกพร้อมน้ำมะพร้าว และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำมะนาวพาสเจอร์ไรส์ โดยบริษัท ห้องเย็นเอเซีย จำกัด บริษัทส่งออกผลไม้ ได้พัฒนามะพร้าวน้ำหอมแช่เยือกแข็งทั้งลูกพร้อมน้ำมะพร้าวพร้อมรับประทาน เหมาะเป็นของฝากหรือสินค้าในระดับพรีเมี่ยมขายยังต่างประเทศ
ปอย-ตรีชฎา มาลยาภรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เฟอร์ฟู แปซิฟิก จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการและนักวิจัยร่วมโครงการ สกว. เจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักชนิดแคปซูลจากสมุนไพร (ตามกลุ่มเลือด) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทดแทนฮอร์โมนเพศหญิงจากสมุนไพร กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมคือ ต้องมีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยต่อผู้บริโภค จากการสนับสนุนทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และความรู้ทางวิชาการจากงานวิจัยสามารถสร้างมูลค่าและเพิ่มทางเลือกให้กับสมุนไพรไทย ลดการใช้สารเคมีอันตราย ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและคุยกับ อย. ในการขอเลขทะเบียนได้ง่ายขึ้น ซึ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกค้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดี ๆ ที่รังสรรค์จากงานวิจัย