เนื้อหาวันที่ : 2007-09-14 10:10:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1936 views

135 โรงงานเอสเอ็มอี กทม. ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโรงงานชั้นดี

โครงการยกระดับฯ เผย 135 โรงงานเอสเอ็มอี กทม. ผ่านการยกระดับก้าวสู่เกณฑ์มาตรฐานโรงงานชั้นดี เตรียมงบดำเนินการปีที่ 2 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ยั่งยืน ซึ่งเป็นผลดีสำหรับทุกฝ่ายภายใต้กรอบอุตสาหกรรมยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง เพิ่มความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

โครงการยกระดับฯ เผย 135 โรงงานเอสเอ็มอี กทม. ผ่านการยกระดับก้าวสู่เกณฑ์มาตรฐานโรงงานชั้นดี เตรียมงบดำเนินการปีที่ 2 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ยั่งยืน ซึ่งเป็นผลดีสำหรับทุกฝ่ายภายใต้กรอบอุตสาหกรรมยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง เพิ่มความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

.

ภาพรวมโรงงานอุตสาหกรรมของไทย ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กและกลาง 48.8% ดังนั้นการแก้ไขปัญหาโดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ จึงต้องเริ่มจากการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากโรงงานขนาดเล็กและกลาง ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ริเริ่มดำเนินโครงการยกระดับการประกอบกิจการโรงงาน ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานโรงงานชั้นดี ปี 2550 เป็นโครงการนำร่องระยะ 6 เดือน ตั้งแต่เมษายน กันยายน 2550 โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการยกระดับฯ จำนวนกว่า 270 รายและแถลงผลจำนวน โรงงาน 135 ราย ผ่านการยกระดับสู่เกณฑ์มาตรฐานโรงงานชั้นดีตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแนะนำ กรอ.เตรียมต่อยอดโครงการยกระดับฯ ปีที่ 2

.

นายสมชาติ สถิตย์สุขเสนาะ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงถึงผลดำเนินงานโครงการยกระดับการประกอบกิจการโรงงาน ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานโรงงานชั้นดีว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้กำหนดระดับ 4 ระดับ คือ A,B,C,D จากจำนวนที่ถูกจัดระดับในปี 49 เกรด D มี 491 ราย จะต้องยกระดับโรงงานทุกประเภทตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอุตสาหกรรม

.

โดยตั้งเป้าหมายเบื้องต้นจะยกระดับเป็นโครงการนำร่องเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 135 รายก่อน ให้มีการประกอบกิจการที่ดีขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นและปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถจัดกลุ่มได้ตามประเภทอุตสาหกรรม คือ 1.กลุ่มโรงงานประเภทไม้แปรรูปและของใช้จากไม้ โรงผลิตโลหะ (กลึง ขึ้นรูป) โรงหล่อโลหะ 2.กลุ่มโรงงานประเภท พลาสติก สิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ 3.กลุ่มโรงงานประเภทเคมีภัณฑ์ เครื่องประดับ กระดาษและสิ่งพิมพ์ 4.กลุ่มโรงงานประเภทอาหาร โรงน้ำแข็ง และอื่น ๆ

.

ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เชิญโรงงานเป้าหมายมาร่วมงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โครงการยกระดับการประกอบกิจการโรงงาน ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานโรงงานชั้นดี ซึ่งมีผู้ประกอบการมาร่วมงานกว่า 100 ราย ในการจัดเวิร์คช้อป (Workshop) ครั้งนี้ได้แบ่งกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มละประมาณ 20-30 คน ตามประเภทอุตสาหกรรม 4 ประเภท เนื้อหาของเวิร์คช้อป (Workshop) มุ่งเน้นการทำความเข้าใจในโครงการฯ และ สิทธิประโยชน์ที่โรงงานจะได้รับจากการยกระดับ

.

ซึ่งจะมีผลต่อการลดมลพิษ ขณะเดียวกันยังช่วยลดต้นทุนและเสริมประสิทธิภาพผลิตผลไปด้วย หลังจากนั้น กรอ. ได้จัดทีมผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปเยี่ยมและให้ความรู้คำแนะนำและวิธีการปฏิบัติในการยกระดับโรงงาน 3 ครั้ง เพื่อประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการ ความปลอดภัย สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานได้ให้ความร่วมมือในการยกระดับอย่างน่าพอใจ

.

กรณีศึกษาการเข้าตรวจเยี่ยมโรงงานขนาดย่อมแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงงานตัวอย่างธุรกิจประเภทตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกแห่งหนึ่ง ทางทีมผู้เชี่ยวชาญพบว่า มีการใช้ไฟฟ้าแสงสว่างมากและการจัดวางจักรเย็บผ้าไม่เป็นระเบียบ ทำให้การไหลของงานเกิดการติดขัดบ่อยครั้ง สูญเสียเวลาการผลิต ได้ปรับปรุงแก้ไขโดยการวิเคราะห์การไหลของงานและจัดวางเครื่องจักรใหม่ (Machine Layout) ให้เป็นกลุ่มงานทำให้เกิด Work flow ดีขึ้นผลผลิตมากขึ้น

.

นอกจากนี้ยังได้วิเคราะห์การใช้แสงสว่าง พบว่า มีการใช้แสงสว่างในที่ไม่จำเป็น จึงได้ติดตั้งแผ่นสะท้อนแสงที่หลอดไฟเพื่อสะท้อนแสงไฟในพื้นที่มากขึ้น ทำให้สามารถปิดไฟในส่วนที่ไม่จำเป็น เป็นการประหยัดไฟลดค่าใช้จ่ายเพิ่มผลผลิตมากขึ้น จากการตรวจสอบยังพบอีกว่า มีเศษผ้าทิ้งกระจัดกระจาย ไม่เป็นระเบียบ และบางส่วนทิ้งวางขวางทางขึ้นลงของบันไดหนีไฟ ทำให้ไม่ปลอดภัย เพราะเศษผ้าเป็นสารติดไฟ มีความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ ในขณะเดียวกันเศษผ้ายังเป็นของเสียที่มีมูลค่าสามารถนำไปทำผ้าเช็ดเท้าได้ จึงได้ให้ผู้ประกอบการจัดทำภาชนะจัดเก็บให้เรียบร้อย ไม่ทิ้งให้เกิดความสกปรก แล้วนำไปจำหน่ายให้แก่โครงการ OTOP ต่อไป

.

นอกจากนี้ ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในโรงงานที่เข้าร่วมโครงการยกระดับฯ จะแตกต่างกันไปตามประเภทของอุตสาหกรรม ได้แก่ ปัญหาผลผลิตต่ำเพราะใช้เทคโนโลยีไม่เหมาะสม ปัญหาการขาดองค์ความรู้ที่จะเกื้อหนุนการพัฒนาการผลิต ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองและเสียงที่ก่อความรำคาญให้ชุมชน ปัญหาความปลอดภัยและมลภาวะที่มีผลกระทบสุขอนามัยของพนักงาน ปัญหาความสะอาดและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ฯลฯ

.

ผู้ประกอบการโรงงานขนาดย่อมต่างพร้อมใจให้ความร่วมมือในการพัฒนาปรับปรุงโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี เพราะตระหนักว่า การเข้าร่วมโครงการยกระดับฯ นี้ มีส่วนช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนและเสริมประสิทธิภาพผลิตผล ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ระบบการจัดการ เสริมสร้างความปลอดภัย สุขอนามัยที่ดี ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่ดีของชุมชน สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงและมีการแข่งขันกันสูง

.

นายสมชาติ ฯ ได้เปิดเผยว่า "โรงงานที่ผ่านการยกระดับปรับปรุงกิจการสู่มาตรฐานมีจำนวน 135 ราย นับว่าโครงการนำร่องในปีแรกนี้เป็นที่น่าพอใจในการกระตุ้นปลุกจิตสำนึกต่อความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากการยกระดับ ได้แก่ 1.โรงงานถูกจัดระดับให้เป็น โรงงานชั้นดี และได้รับใบเกียรติบัตรรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 2.ได้รับการผ่อนผันการตรวจสอบกำกับดูแลโรงงาน

.

3.ได้รับการบริการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้รวดเร็ว ไม่ต้องตรวจสอบโรงงานก่อน เช่น การต่ออายุใบอนุญาตโรงงานดำเนินการได้ภายใน 1 ชั่วโมง 4.สภาพแวดล้อมและสุขอนามัยภายในโรงงานดีขึ้น ลดต้นทุน สร้างมูลค่าและผลผลิตเพิ่มมากขึ้น 5.ได้รับการส่งเสริมการพัฒนาในโครงการต่าง ๆ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้มีการพัฒนามากยิ่งขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นับเป็นความร่วมมือกันของภาครัฐและผู้ประกอบการโครงการยกระดับการประกอบกิจการโรงงานฯ ซึ่งเป็นผลดีสำหรับทุกฝ่ายภายใต้กรอบอุตสาหกรรมยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง เพิ่มความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม