เนื้อหาวันที่ : 2017-02-17 11:44:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2141 views

กสอ. โหมปัดฝุ่นสินค้าชุนชนด้วยนวัตกรรม คิกออฟปรับโฉมไหบ้านเชียงสู่เทเบิ้ลแวร์สุดคลาสสิค ตั้งเป้าขยายตลาดสู่อัพเปอร์มาเก็ต

          กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จัดสรรงบประมาณกว่า 160 ล้านบาท ในปี 2560 เร่งเดินหน้าพัฒนาและต่อยอดสินค้าชุมชนให้เกิดมูลค่าในเชิงพาณิชย์ด้วยการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญามาผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสมัยใหม่ ผ่านโครงการต่าง ๆ กว่า 10 โครงการ โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพื่อขยายสู่ตลาดระดับบน ซึ่งล่าสุดได้เริ่มนำร่องพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาจากบ้านเชียงหลังพบปัญหาที่ต้องเร่งปรับปรุง โดยมอบหมายให้ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก  (ศม.กสอ.) จังหวัดลำปาง จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการตลอดทั้งกระบวนการ ทั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ สามารถยกระดับตนเองสู่สินค้าโมเดิร์นเทรดได้ต่อไป  

           

 

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

 

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถิติโดยภาพรวม ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์และสินค้าชุมชนกว่า 1.2 แสนรายการ มีผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนรวมกว่า 30,000 ราย และมีมูลค่าอุตสาหกรรมกว่า 8.04 หมื่นล้านบาท (ที่มา : รวมผลการจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ประจำปีงบประมาณ 2559 กรมการพัฒนาชุมชน) ซึ่งในจำนวนที่กล่าวมานี้ มีผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการอีกเป็นจำนวนมากที่ยังเผชิญกับปัญหากับการปรับตัวเพื่อเข้าสู่การแข่งขันและสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในระดับฐานรากโดยในปัจจุบันพบว่าสินค้าหรือการบริการที่มีนวัตกรรมนั้นยังมีจำนวนน้อย ซึ่งประสบปัญหาและอุปสรรคในด้านวัตถุดิบ เทคโนโลยีการผลิต มาตรฐาน บรรจุภัณฑ์ ความหลากหลายและการต่อยอดสินค้า รวมทั้งการออกแบบในมิติต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเกิดความอยู่รอด สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคใหม่อีกทั้งยังเป็นอาวุธสำคัญที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปได้อย่างยั่งยืน

 

 

ชุดกาแฟบ้านเชียง

 

          นายพสุ กล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ. 2560 กสอ. ได้เร่งสานต่อนโยบายการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากชุมชนให้มีศักยภาพอย่างจริงจังมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจให้เกิดมูลค่าในเชิงพาณิชย์ด้วยการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญามาผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสมัยใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันและยกระดับให้ผลิตภัณฑ์ได้กลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและสามารถขยายเข้าสู่ตลาดระดับบนตลอดจนตลาดต่างประเทศ ซึ่งเบื้องต้นได้เตรียมมาตรการและกลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็งต่าง ๆ กว่า 10 โครงการ ด้วยงบประมาณกว่า 160 ล้านบาท อาทิ โครงการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ – บรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ที่มีอัตลักษณ์ของภูมิภาคสู่สากล กิจกรรมเพื่อทดสอบตลาด อาทิ OTOP City และ OTOP Midyear 2017 รวมทั้งยังได้เตรียมผลักดันสู่ช่องทางการค้าออนไลน์และศูนย์การค้าชั้นนำ  

 

 

ภาพกิจกรรมการอบรมผู้ประกอบการ

 

          อย่างไรก็ดี กสอ.ได้เริ่มดำเนินการนำร่องพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากหนึ่งในเก้าโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่พบว่า แม้จะมีความโดดเด่นจากรูปแบบสินค้าที่มีความสวยงาม ชั้นเชิงในงานหัตถกรรมและสีสันที่มีเอกลักษณ์ รวมทั้งความมีชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่ก็ยังพบปัญหาที่ต้องเร่งปรับปรุง ทั้งในด้านวัตถุดิบที่มีคุณภาพลดลง รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ยังขาดความหลากหลาย  ความสูญเสียที่เกิดจากการขาดความชำนาญการผลิตที่มีอยู่ประมาณกว่าร้อยละ 10 - 20 และประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ที่มีความแข็งแกร่งน้อย แตกหักเสียหายได้ง่าย ประกอบกับลวดลายบนผิวผลิตภัณฑ์ที่ไม่สวยงามเหมือนผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม ซึ่งอุปสรรคที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ กสอ.ได้มอบหมายให้ ศม.กสอ. จังหวัดลำปาง เร่งให้ความช่วยเหลือด้วยการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ทั้งกระบวนการตั้งแต่การเตรียมเนื้อดินการขึ้นรูปและการตกแต่งผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเทคนิคการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ดิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด สร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการสรรค์สร้างสินค้าของตนเอง พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้เกิดความแข็งแกร่งในอนาคตข้างหน้าได้ต่อไป

 

 

นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

 

          ด้านนายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทางศูนย์ฯจะเข้าไปพัฒนาสูตรดินปั้นใหม่ที่มีความเนียนละเอียดและความแข็งแกร่งสูงขึ้นเหมาะแก่การขึ้นรูปผลิตภัณฑ์และลดความเสียหายได้ในปริมาณมากอีกทั้งยังพัฒนาสูตรสีเขียนลายให้มีความเหมาะสมและใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม สามารถผนึกเข้ากับผิวชิ้นงานได้ดีไม่เปื่อยยุ่ยหรือหลุดร่อนง่ายมีความคงทนถาวรตลอดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ นอกเหนือจากนี้ ยังได้พัฒนาด้านเทคนิคของเตาเผาที่สามารถผลิตพลังงานได้ถึงอุณหภูมิ1,000 – 1,050 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิดังกล่าวทำให้หลังการเผาผลิตภัณฑ์จะมีสีแดงตามธรรมชาติมีการสุกตัวดีและมีความแข็งแกร่งมากกว่าผลิตภัณฑ์เดิม ในส่วนการสร้างความหลากหลายให้กับเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงนั้น กสอ.ยังได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบให้เกิดขึ้นในลักษณะของผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย ซึ่งจากเดิมที่มีรูปแบบเพียงแค่หม้อ ไห คนโท กระถาง และโอ่ง ได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุดกาแฟและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารชนิดเคลือบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการนำร่องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ได้มองเห็นโอกาสของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบที่แตกต่าง และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างช่องทางด้านการตลาดใหม่และสร้างสรรค์สินค้าสำหรับเป็นของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวและผู้คนที่จะมาเยี่ยมชมพื้นที่ในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ผลิต ตามรูปแบบนี้มีความซับซ้อนของกระบวนการผลิตและเป็นสินค้าที่มีมูลค่า ดังนั้น การผลิตจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่แตกต่างไปจากกระบวนการผลิตแบบเดิมที่มีอยู่ โดย กสอ.ยังได้เตรียมนำเครื่องมือบดผสมเคลือบ (Ball mill) และเตาเผาชนิดเตาแก๊สที่ใช้เชื้อเพลิงสะอาดสำหรับเผาผลิตภัณฑ์เคลือบ (Shuttle Gas Kiln) มาพัฒนาสู่กระบวนการผลิต ซึ่งในอนาคตยังจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้สามารถยกระดับตนเองสู่สินค้าโมเดิร์นเทรดได้ต่อไป  

 

 

เตาเผาใหม่ที่ทนอุณหภูมิได้ถึง 1000 - 1050 องศา

 

 

ผู้ประกอบการทดลองปั้นด้วยสูตรดินปั้นใหม่

 

 

ผู้ประกอบการเขียนลายเครื่องปั้นดินเผา

 

 

ชุดเทเบิลแวร์

 

 

          สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรม เซรามิก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จ.ลำปาง โทร.054 281 884 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th

 

 

เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงหลังได้รับการพัฒนา