กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา ลงนามความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีที่ใช้ได้จริง ต่อยอดผลิตภัณฑ์จากชุมชนของมูลนิธิฯ พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างความเข้มแข็งของชุมชน
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า มูลนิธิชัยพัฒนาได้ร่วมงานกับ สวทช. ในการนำผลงานวิจัยที่ออกจากห้องทดลองนำไปต่อยอดแล้วด้วยกันหลายผลงาน การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะนำงานวิจัยไปใช้จริงกับผลิตภัณฑ์ของชุมชนโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน ที่ช่วยให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถเลี้ยงตนเองได้ สอดคล้องกับพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยในการลดต้นทุน ปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า อันสอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและขยายขอบเขตของผลผลิตให้แพร่หลายมากขึ้น การนำผลงานวิจัยของ สวทช. เข้ามาช่วยนับเป็นสิ่งที่ดีมาก และคงต้องมีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเป็นอานิสงส์อย่างสูง ให้เจริญก้าวหน้าในงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมกันนี้ขอขอบคุณ สวทช. ในนามของประชาชนด้วย
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ให้ความสำคัญกับการวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ความร่วมมือและบูรณาการทำงานกับมูลนิธิชัยพัฒนา ด้วยการนำผลงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของนาโนเทคโนโลยีมาสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากชุมชนบ้านสามขา จังหวัดลำปาง พื้นที่เป้าหมายที่ สวทช. สนับสนุนการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน อาทิ “กระดาษปลูกกินได้” ผลิตโดยการนำฟางข้าวอินทรีย์ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่บ้านสามขา มาผนวกกับเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านจากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย ผลิตเป็นกระดาษฟางข้าวอินทรีย์ที่สามารถเพาะเป็นต้นอ่อนจากเมล็ดพันธุ์ เป็นผลผลิตที่เรากินได้ กระบวนการ วิธีการผลิตและการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการการเกษตร ที่นำมาผลิต“กระดาษปลูกกินได้” ดังกล่าว เป็น Green Process คือการนำวัตถุดิบซึ่งเป็นฟางข้าวที่สะอาดและไร้สารเคมีตกค้าง มาเข้าสู่กระบวนการผลิตด้วยเครื่องจักรที่สะอาด ไร้มลพิษ ไม่ใช่สารเคมีเป็นส่วนผสมของกระดาษ ผลผลิตที่ได้จึงสะอาด ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปี 2559 ผลิตภัณฑ์นี้ได้เผยแพร่ผ่านกิจกรรมของมูลนิธิฯ ในหลายวาระ เช่น วันพ่อแห่งชาติ (5 ธันวาคม 2559) วันแม่แห่งชาติ (12 สิงหาคม 2559) และเป็นส่วนหนึ่งของบัตรอวยพรปีใหม่ 2560 เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยของศูนย์นาโนเทคโนโลยี สวทช. ในส่วนของการใช้นาโนเทคโนโลยีเคลือบสิ่งทอแก่ผลิตภัณฑ์ผ้าพันคอของมูลนิธิฯ เพื่อเพิ่มความนุ่มนวลน่าสัมผัส เพิ่มคุณสมบัติต้านรังสียูวี ป้องกันการซีดจางของสีย้อมธรรมชาติ ถนอมผลิตภัณฑ์ให้มีความสวยงามนานกว่าเดิม
สำหรับความร่วมมือที่กำลังจะมีต่อไปในอนาคต พบว่า ผลิตภัณฑ์ของชุมชนในเครือข่ายของมูลนิธิฯ มีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยการใช้นาโนเทคโนโลยี เช่น ดอกเกลือ น้ำผึ้งชันโรง เป็นต้น การนำงานวิจัยมาถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ มาตรฐาน การบริหารจัดการ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมความรู้ของชุมชนให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาบุคลากร ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของประชาชนมากขึ้น