เนื้อหาวันที่ : 2017-02-02 18:02:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1615 views

เชฟรอนเดินหน้าโครงการเรือกักเก็บปิโตรเลียม “เบญจมาศ 2” เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานในอ่าวไทย

นางสาววัน มาชิตาห์ วัน อับดุลลาห์ ซานี (ที่ 5 จากขวา) กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริษัท มาเลเซีย มารีน แอนด์ เฮฟวี่ เอ็นจิเนียริ่ง โฮลดิ้งส์ เบอร์ฮาด; นายซาเยด ฮาชิม บิน ซาเยด อับดุลลาห์ (ที่ 6 จากขวา) รองประธานกรรมการบริหารธุรกิจนอกฝั่ง บริษัท เอ็มไอเอสซี เบอร์ฮาด และผู้อำนวยการ บริษัท เอ็มไอเอสซี ออฟชอร์ โฟลทติ้ง เทอร์มินอล จำกัด; และ นายไพโรจน์ กวียานันท์ (ที่ 7 จากขวา) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จํากัด ร่วมพิธีดัดแปลงเรือกักเก็บปิโตรเลียม “เบญจมาศ 2” ณ อู่ต่อเรือของ บริษัท มาเลเซีย มารีน แอนด์ เฮฟวี่ เอ็นจิเนียริ่ง โฮลดิ้งส์ เบอร์ฮาด เมืองยะโฮร์บารู ประเทศมาเลเซีย โดยคาดว่าเรือเบญมาศ 2 จะแล้วเสร็จและสามารถเริ่มปฏิบัติการได้ในปี 2561 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการผลิตปิโตรเลียมของเชฟรอนในอ่าวไทย

พิธีดัดแปลงเรือกักเก็บปิโตรเลียมในครั้งนี้ จัดขึ้นภายหลังพิธีลงนามข้อตกลงเช่าเรือกักเก็บปิโตรเลียมเบญจมาศ 2 ระหว่างบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอ็มไอเอสซี ออฟชอร์ โฟลทติ้ง เทอร์มินัล จำกัด ในกลุ่มบริษัท เอ็มไอเอสซี เบอร์ฮาด เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2559 โดยเรือลำใหม่นี้จะนำมาแทนที่เรือเบญจมาศ เอกซ์พลอเรอร์ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนการผลิตปิโตรเลียมอย่างปลอดภัยและต่อเนื่องในแปลงสัมปทาน บี 8/32 และจี 4/43 ของเชฟรอนในอ่าวไทย

ผู้เข้าร่วมในพิธีในครั้งนี้ ได้แก่ นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด นางสาววัน มาชิตาห์ วัน อับดุลลาห์ ซานี กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาเลเซีย มารีน แอนด์ เฮฟวี่ เอ็นจิเนียริ่ง โฮลดิ้งส์ เบอร์ฮาด และ นายซาเยด ฮาชิม บิน ซาเยด อับดุลลาห์ รองประธานกรรมการบริหารธุรกิจนอกฝั่ง บริษัท เอ็มไอเอสซี เบอร์ฮาด และผู้อำนวยการ บริษัท เอ็มไอเอสซี ออฟชอร์ โฟลทติ้ง เทอร์มินอล จำกัด

เรือเบญจมาศ 2 จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการกักเก็บและขนถ่ายปิโตรเลียม รวมถึงระบบความปลอดภัยและปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ล้ำหน้า เรือลำนี้มีความจุมากกว่า 117,000 คิวบิกเมตร หรือสามารถกักเก็บปิโตรเลียมได้ 740,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยประมาณ การดำเนินการในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างเชฟรอน และเอ็มไอเอสซี เพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้งของเชฟรอนในการจัดหาพลังงานอย่างมั่นคงและปลอดภัยให้กับประเทศไทยในระยะยาว