เนื้อหาวันที่ : 2017-02-02 12:10:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1883 views

SMART LAB มจธ.รับโจทย์วิจัยทางการแพทย์พุ่งเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

สมาร์ทแล็บ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กวาดรางวัลนานาชาติอื้อ เผยปัจจุบันโจทย์วิจัยเทน้ำหนักด้านสุขภาพและการแพทย์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เรียงคิวสู่เชิงพาณิชย์เพียบ

 

 

ผศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความเป็นสากลและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

 

          ผศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความเป็นสากลและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าวัสดุทางการแพทย์จากต่างประเทศราว 95 เปอร์เซ็นต์จากที่นำเข้าทั้งหมด และมักมีราคาที่สูงเกินจริงไปมากกว่า 1,000 เท่า แต่จำเป็นต้องซื้อเพื่อใช้รักษาคนไข้ แม้วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างประเทศไทยจะสามารถวิจัยและพัฒนาขึ้นมาเองได้ก็ตาม ส่วนหนึ่งยังมาจากปัญหาความเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์  ซึ่งอาจจะต้องมีกระบวนการบางอย่างมาสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นทั้งกับแพทย์และคนไข้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันรัฐบาลได้เห็นความสำคัญจากการที่ผลงานของนักวิจัยไทยไปได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากขึ้น ทำให้ล่าสุด รัฐได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณภายใต้ข้อตกลงว่างานวิจัยนั้นจะต้องสามารถออกไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ในที่สุด ซึ่งเป็นที่มาของการลงนาม “ข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ระหว่างนักประดิษฐ์และผู้ประกอบการไทย” สิ่งเหล่านี้เป็นขวัญและกำลังใจให้กับนักวิจัยไทยอย่างยิ่งและเป็นแรงกระตุ้นให้นักวิจัยเร่งผลิตผลงานที่คุณค่าต่อประเทศออกมามากขึ้น

 

 

ภาพรางวัลจากต่างประเทศ 1

 

 

ภาพรางวัลจากต่างประเทศ 2

 

          ในส่วนงานวิจัยของสมาร์ทแล็บ มจธ. เองที่ผ่านมาได้ทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเซ็นเซอร์ และวัสดุ ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง ขณะเดียวกันก็ทำงานวิจัยด้านการแพทย์อยู่แล้วราว 50เปอร์เซ็นต์ แต่มาระยะหลังมีโจทย์ทางการแพทย์หลั่งไหลเข้ามามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว และมีนักวิจัยเพิ่มขึ้นมากเป็นเท่าตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีนักวิจัยประมาณ 40 คน ผลงานที่เป็นจุดเริ่มต้นคือการค้นพบโลหะผสมจำรูป ซึ่งสามารถนำไปใช้แทนลวดสแตนเลสจัดฟันได้ดี มีประสิทธิภาพสูงกว่า ซึ่งนั่นทำให้สมาร์ทแล็บเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการแพทย์มากขึ้น และเริ่มแตกไลน์งานวิจัยทางด้านการแพทย์เพิ่มมากขึ้น

 

 

ภาพรางวัลจากต่างประเทศ 3

 

 

ภาพรางวัลจากต่างประเทศ 4

 

          เฉพาะในช่วงปลายปี 2559 สมาร์ทแล็บ มจธ.ไปคว้ารางวัลระดับนาชาติมาแล้วถึง 6 รางวัล เวที 12th Taipei International Invention Show & Technomart” (INST 2016) กวาดมาได้ 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลเหรียญทอง ผลงานวิจัย “เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าแบบแคล๊งค์จากโลหะผสมจำรูป” รางวัลเหรียญเงิน ผลงานวิจัย “การปรับปรุงประสิทธิภาพของวัสดุฝังในทางการแพทย์ด้วยกระบวนการ Fine Shot Peening (FSP)” (ได้รับรางวัล Special Prize จาก Association of Polish Inventors and Rationalizers, ประเทศโปแลนด์) และรางวัลเหรียญทองแดง ผลงานวิจัย “อุปกรณ์อุดรอยรั่วหัวใจจากวัสดุฉลาด”  ส่วน งาน “10th  International Warsaw Invention Show” (IWIS 2016) กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ นักวิจัย มจธ. ได้รับอีก 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลเหรียญทอง ผลงานเรื่อง “ขดลวดค้ำยันชนิดดึงกลับจากวัสดุฉลาด” (ได้รับรางวัล Special Prize จาก Romanian Inventors Forum: FIR, ประเทศโรมาเนีย และ Association of Polish Inventors and Rationalizers, สาธารณรัฐโปแลนด์) รางวัลเหรียญเงิน ผลงานเรื่อง “การออกแบบอุปกรณ์รักษาโรคผมร่วงโดยใช้การกระตุ้นด้วยแสง” (ได้รับรางวัล Special Prize (On Stage) จาก Toronto International Society of Innovation & Advanced Skills: TISIAS, ประเทศแคนาดา) และรางวัลเหรียญทองแดง ผลงานเรื่อง “โลหะผสมไทเทเนียมสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์” (ได้รับรางวัล Special Prize จาก The First Institute of Inventors and Researchers of Iran: FIRI, สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน)         

 

          นอกจากนี้สมาร์ทแล็บ มจธ.ยังมีผลงานอื่นๆ ที่เตรียมออกสู่เชิงพาณิชย์อีกมาก อาทิ อุปกรณ์หมวกรักษาโรคอัลไซเมอร์ด้วย LED เพื่อแก้ปัญหาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม อุปกรณ์การเคลื่อนกรามสำหรับรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นต้น

 

 

ด้านล่างอุปกรณ์แบบเก่า ด้านบนอุปกรณ์แบบใหม่

 

          “ผลงานการปรับปรุงประสิทธิภาพของวัสดุฝังในทางการแพทย์ด้วยกระบวนการ Fine Shot Peening (FSP) หรือ เหล็กดามกระดูกชนิดใหม่ ที่มีจุดเด่นหลักๆ คือ เราปลดเอาธาตุที่เป็นพิษต่อมนุษย์ออกทั้งหมด และใช้เทคโนโลยี FSP แบบเดียวกับที่ใช้ในการผลิตรถแข่ง เฟอรารี่ หรือบิ๊กไบท์ ผลที่เกิดขึ้นคือวัสดุมีความแข็งแรงทนทานต่อการเปลี่ยนรูปมากขึ้น ลดแรงเสียดทาน ทำให้เราสามารถผลิตเหล็กดามกระดูกที่มีขนาดบางลงและน้ำหนักเบาลง ช่วยให้แพทย์ผู้ผ่าตัดใช้งานได้ง่าย ผู้ป่วยรู้สึกไม่รำคาญ และแก้ไขปัญหาอุปกรณ์หลุดหรือหลวมและหักในคนไข้ได้ โดยผ่านการทดสอบกับกระดูกอาจารย์ใหญ่มาแล้ว และอยู่ระหว่างการนำไปทดสอบในกระต่าย ก่อนจะขออนุมัติจากกรรมการจริยธรรมเพื่อให้แพทย์นำไปทดสอบในคนไข้จริง โดยคาดว่าไม่เกินปี พ.ศ.2561 จะสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งผลงานวิจัยนี้ไม่เพียงแต่เราจะได้วัสดุดามกระดูกที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยต่อคนไข้เท่านั้น แต่จะทำให้ผู้ป่วยที่ใช้บัตร 30 บาทรักษาทุกโรคสามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายค่าวัสดุดามกระดูกนี้จากกรมบัญชีกลางได้อีกด้วย เนื่องจากราคาขายน่าจะถูกลงกว่าแบบเดิมกว่าครึ่ง

 

 

เปรียบเทียบอุปกรณ์แบบเก่ากับแบบใหม่ (ซ้ายอุปกรณ์แบบเก่า ขวาอุปกรณ์แบบใหม่)