การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในปัจจุบันมีความรุนแรงและเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังเช่น เหตุการณ์มหาอุทกภัยในประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากมายต่ออาคาร บ้านเรือน รวมถึงทรัพย์สินต่าง ๆ และสร้างความเดือนร้อนแก่ผู้ประสบภัย ทำให้ต้องอพยพออกจากพื้นที่ ไปอาศัยอยู่ตามพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ในความช่วยเหลือ โดยส่วนใหญ่ใช้เต็นท์ผ้าใบเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว จนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยถาวรให้แล้วเสร็จ
แม้ว่าเต็นท์ผ้าใบจะสะดวกในการขนส่ง ติดตั้ง แต่วัสดุผ้าใบมีความแข็งแรงไม่เพียงพอ มีปัญหาในเรื่องความร้อน และการอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการทำกิจกรรมของครอบครัว ขาดความเป็นส่วนตัวและก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขอนามัยตามมา สำหรับประเทศไทยการพัฒนาที่พักอาศัยชั่วคราวได้รับการพัฒนา แต่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งแนวโน้มภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นและไม่มีใครสามารถคาดเดาได้อย่างแม่นยำเพื่อรับมือ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในเรื่องที่พักอาศัยเพื่อรองรับและบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนในอนาคตจึงเป็นสิ่งสำคัญ
มหาวิทยาลัยนักปฏิบัติมืออาชีพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จึงผุดไอเดียด้านการออกแบบที่พักอาศัย ชูแนวคิด “นวัตกรรมที่พักอาศัยฉุกเฉินสำเร็จรูปถอดประกอบได้” ฝีมือการออกแบบของ ผศ.ดร.วชิระ แสงรัศมี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และนายประชุม คำพุฒ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี
ผศ.ดร.วชิระ แสงรัศมี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี
ผศ.ดร.วชิระ แสงรัศมี เล่าว่า แนวคิดและแรงบันดาลใจในการออกแบบที่พักฉุกเฉินนี้ มาจากบ้านท่อนซุงในอดีตที่นำท่อนไม้มาประกอบเป็นที่พัก โดยเลือกใช้ท่อพีวีซี (PCV) ที่มีรูกลวงตรงกลาง มาทำเป็นแผ่นผนัง (ท่อนไม้เทียม) เพราะจากผลการศึกษาพบว่า คุณสมบัติของท่อพีวีซีสามารถใช้ประกอบเป็นแผ่นผนังที่มีน้ำหนักเบากว่าผนังอิฐมอญถึง 5 เท่าและมีค่าการต้านทานความร้อนสูงกว่า ค่าการรับแรงอัดเทียบเท่าอิฐมอญ รวมถึงมีน้ำหนักเบา ขนส่งและติดตั้งได้สะดวก เป็นวัสดุสามารถรีไซเคิลได้ จึงเลือกใช้ประโยชน์จากท่อพีวีซีมาประกอบเป็นแผ่นผนังสำเร็จรูป
เจ้าของผลงาน อธิบายว่า “รูปแบบและพื้นที่ใช้สอยของที่พักฉุกเฉินถอดประกอบได้นี้ ใช้ระบบประสานทางพิกัดหรือระบบโมดูลาร์ (Modular Coordination) ในการออกแบบเพื่อให้ง่ายต่อการขยายพื้นที่ การผลิต-ประกอบ และรื้อถอน โครงสร้างชิ้นส่วนสำเร็จรูปต่าง ๆ ถูกยึดกันด้วยน๊อต โดยมีชุดชิ้นส่วนสำเร็จรูปหลัก คือ ชุดชิ้นส่วนด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง ชุดชิ้นส่วนพื้น ชุดชิ้นส่วนฝ้าเพดาน ชุดชิ้นส่วนหลังคา และชุดชิ้นส่วนผนังสำเร็จรูปจากท่อพีวีซี ที่พักฉุกเฉินสำเร็จรูปนี้สามารถเพิ่มขยายตามจำนวนผู้พักอาศัยและปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้สอยและดัดแปลงได้หลากหลาย เช่น ใช้เป็นที่พักอาศัยหลับนอน ใช้เป็นห้องน้ำส้วม ใช้เป็นศูนย์สถานพยาบาลเคลื่อนที่ ใช้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวในพื้นที่น้ำท่วม (เพิ่มฐานด้วยถังน้ำมัน) หรือใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวได้”
“เมื่อมีผู้ประสบภัยต้องการที่พักก็ทำการเลือกรูปแบบ เพื่อกำหนดขนาดของที่พักตามจำนวนตามสมาชิกและความจำเป็นในแต่ละครอบครัว และนำชุดชิ้นส่วนประกอบต่างๆ จากพื้นที่ส่วนกลาง (หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย) ที่ได้จัดเตรียมชิ้นส่วนต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า มาประกอบกันเพื่อพักอาศัยชั่วคราวในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อบ้านของผู้ประสบภัยสร้างหรือซ่อมแซมเสร็จ ก็จะทำการรื้อถอดที่พักฉุกเฉิน แล้วนำไปเก็บในพื้นที่ส่วนกลางและซ่อมแซมก่อนนำไปใช้อีกครั้งหนึ่ง” เจ้าของผลงาน กล่าว
ลวดลายและสีสันของผนังสามารถทาสีเพิ่มความสวยงามและสร้างบรรยากาศให้น่าอยู่ได้ แต่ครั้งนี้ผู้สร้างสรรค์ผลงานเลือกที่จะใช้สีลายไม้ เพื่อทำให้ผู้ประสบภัยรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ที่พักฉุกเฉินสำเร็จรูปถอดประกอบได้ มีน้ำหนักประมาณ 750 กิโลกรัมต่อหลัง สามารถประกอบติดตั้ง และรื้อถอนได้ด้วยแรงงานคนเสร็จได้ภายในหนึ่งวัน ส่วนราคาค่าการสร้างอยู่ที่ 55,000 บาทต่อหลัง
สุดยอดนวัตกรรมนี้ มีรางวัลผลงานนวัตกรรม The 4th Top Ten Innovation Awards จากมหาวิทยาลัย พร้อมด้วยรางวัล CDAST DESIGN AWARDS 2014 ระดับดี ผลงานสร้างสรรค์ดีเด่นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และกำลังอยู่ในขั้นตอนการจดทะเบียนสิทธิบัตรอยู่ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2549-4771