เนื้อหาวันที่ : 2016-12-27 08:39:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 553 views

ซิป้า เผยทิศทางการดำเนินงานในปี 2560 สานต่อโครงการสำคัญๆ มุ่งหวังพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล นำสู่ตลาด E-Market Places ให้สำเร็จภายในปี 2561

สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือซิป้า เผยทิศทางการดำเนินงานในปี งบประมาณ 2560 มุ่งสานต่อโครงการสำคัญๆ อาทิ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Entrepreneur Total Digital Services), โครงการ Smart City,  Startup โดยยกระดับให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระดับชุมชนสามารถใช้ระบบไอที ทั้งระบบบัญชี ERP การสร้างแพลตฟอร์มบีทูบีเพื่อนำธุรกิจขึ้นสู่ตลาด E-Market places ได้สำเร็จภายในปี 2561

นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์  รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของซิป้าในปีงบประมาณ 2560 มุ่งสานต่อโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล จ.ภูเก็ต หรือโครงการ Phuket Smart City ซึ่งในปี 2560 จะมุ่งส่งเสริมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้มีความชัดเจนเช่นเดียวกับจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้เพื่อรองรับนักลงทุน ขณะเดียวกันจะมุ่งสานต่อโครงการสำคัญอื่นๆ เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Entrepreneur Total Digital Service) โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีอยู่ประมาณ 4,000 ราย สามารถใช้ระบบไอทีได้คล่องทั้งระบบบัญชี ERP แนะนำการสร้างแพลตฟอร์มที่เอื้อต่อการทำธุรกิจเพื่อให้สามารถนำธุรกิจขึ้นสู่ตลาด E-Market Places ในธุรกิจแบบอีคอมเมิร์ซได้ครบทั้งหมดจากฐานรายชื่อผู้ประกอบการที่มีอยู่ประมาณ 4,000 ราย

การขับเคลื่อนผู้ประกอบการตามโครงการ Entrepreneur Total Digital Services เบื้องต้นจะทำ 10 จังหวัดก่อน จังหวัดละ 20 ชุมชนๆ ละ 20 ผู้ประกอบการ รวมเป็นผู้ประกอบการประมาณ 4,000 ราย ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ภูเก็ต นครศรีธรรมราช โดยใน 10 จังหวัดแรกจะมุ่งเน้นให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลที่ไม่ซ้ำซ้อนกับสื่อดิจิทัลชุมชน โดยเบื้องต้นจะเลือกชุมชนที่ทำการเกษตรและสินค้า OTOP ก่อน ซึ่งทางซิป้าจะจัดหน้าที่คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและให้ความรู้ว่าการทำธุรกิจแบบอีคอมเมิร์ซเป็นอย่างไร จัดเจ้าหน้าที่ไปคลุกคลีกับชาวบ้านและเป็นพี่เลี้ยงไปตลอดทั้งปีในงบประมาณที่วางไว้ประมาณ 50 ล้านบาท และตั้งเป้าโครงการฯ ใน 10 จังหวัดแรกจะต้องประสบความสำเร็จในปี 2561

สำหรับโครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล จ.ภูเก็ต หรือโครงการ Phuket Smart City  จะทำต่อเนื่องไปถึงปี 2560 แต่จะมุ่งลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการที่ส่งเสริมจะเน้นด้านเกษตร โดยกิจกรรมต่างๆ จะร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้เกี่ยวกับแนะนำเทคนิคต่างๆ ในการทำการเกษตรแนวใหม่ อาทิ มีเซ็นเซอร์รดน้ำแปลงผัก วิธีตรวจสอบดินเพื่อเตรียมเพาะปลูก ใช้เทคโนโลยี โดรนในการว่านเมล็ดพืช เป็นต้น