คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ และทีม ESIC LAB ภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มจธ. จับมือผนวกสองศาสตร์ความรู้ สร้างสรรค์ In..Cloud ผลงานออกแบบ Interactive Lighting ร่วมจัดแสดงในงาน Chiang Mai Design Week เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
In…Cloud คือ ชื่อผลงานที่เกิดจากการออกแบบของทีมอาจารย์นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ได้รับเชิญไปร่วมจัดแสดงในงานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ หรือ Chiang Mai Design Week บริเวณสำนักงานยาสูบ ซึ่งเป็นเทศกาลที่บรรดานักออกแบบ ช่างฝีมือ ศิลปิน นักศึกษา นักเรียน ผู้ประกอบการ กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในเมืองเชียงใหม่ จัดโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่และภาคเอกชน
ผศ.ดร.จรรยาพร จุลตามระ นักวิจัยและนักออกแบบแสงสว่าง จาก Lighting Research and Innovation Center คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. กล่าวว่า ผลงาน “In…Cloud” เกิดจากความร่วมมือและบูรณาการองค์ความรู้ระหว่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อาจารย์ สุขุมาล ธรรมวิเศษ สถาปนิก ดร.ปริยกร ปุสวิโร วิศวกรคอมพิวเตอร์ และทีม ESIC Edutainment & Socio-Interaction Computing LAB จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.
“In…Cloud เกิดขึ้นจากการผสมผสานองค์ความรู้ในหลายสาขาวิชาเข้าด้วยกัน เกิดเป็น interactive lighting installations เป็นงานศิลปะที่นำโครงเหล็กมาโอบอุ้มแผ่นอะคริลิกสีขาวที่ใช้ทั้งชนิดขุ่นและชนิดใสที่ใช้การตัดรูปด้วยเลเซอร์เป็นฟอร์มอิสระมองแล้วคล้ายเมฆ ผสมผสานเข้ากับเทคนิคไฟ LED ด้วยการนำเทคโนโลยีการจัดแสดงแสงมาติดตั้งบนพื้นที่สาธารณะทำให้ดูคล้ายมีเมฆสีครามลอยต่ำอยู่เหนือศีรษะของผู้ชม และเป็นผลงานศิลปะเพียงชิ้นเดียวในงานที่มีการปฏิสัมพันธ์หรือ interactive กับผู้คนที่เดินผ่านไปมาอย่างน่าดึงดูด”
ผศ.ดร.จรรยาพร กล่าวเพิ่มเติมว่าในการสร้างสรรค์ผลงาน In…Cloud เป็นครั้งแรกที่เกิดการผนวกรวมองค์ความรู้ทั้งด้าน Art Design และวิศวกรรมเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ เป็นสังคมการเรียนรู้อีกหนึ่งรูปแบบที่เกิดขึ้นในรั้ว มจธ. โดยนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จะทำหน้าที่ในการออกแบบโครงสร้างรูปทรงอิสระด้านในตัวเมฆ (ณัฐวุฒิ พรหมมา, ฐานันดร บุญชู และ สหภูมิ ปิติบริบูรณ์) ส่วนทีม ESIC LAB (นายนัทธพงศ์ เลิศอำนวยโชค , นายทศวัชร์ มกร์ดารา และนายธนพล จตุรงค์ธวัชชัย) จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมกรรมศาสตร์ ทำหน้าที่ในการพัฒนาโปรแกรมควบคุมการแสดงแสงและเสียงให้มีปฎิสัมพันธ์กับแสงไฟ LED และโปรแกรมสั่งการไมโครคอนโทลเลอร์ให้ตอบสนองกับการเดินภายใต้ก้อนเมฆของผู้ชมผ่านเซ็นเซอร์ เพื่อควบคุมแสง สี และเสียงตามแนวคิดที่ออกแบบไว้
“การที่เรามีทีมวิศวกรมาร่วมงานทำให้งานออกแบบมีชีวิตขึ้นมาได้ อย่างผลงาน in…cloud นี้หากอยู่ในช่วงที่ไม่มีคน ไฟจะแสดงเป็นสีฟ้าออกเขียวหรือสีเทอร์ควอยซ์ บางๆ สลัวๆ ประกอบกับการเพิ่มเสียงที่มิกซ์ขึ้นใหม่เปิดคลอไปพร้อมกัน โดย sensor ที่ถูกติดตั้งไว้ที่พื้นเวลาคนเดินผ่านใต้ in…cloud ไฟจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง หรือสีแอมเบอร์ ซึ่งทีมงานใช้ซอฟท์แวร์ในการตัดต่อให้จังหวะของแสงกับเสียงคล้อยตามกัน เพราะอยากให้คนที่มาชมงานศิลปะรู้สึกกลมกลืนไปกับงาน และมีส่วนร่วมกับงานศิลปะได้ แต่ท้ายที่สุดในการผนวกรวมองค์ความรู้ทั้งสองศาสตร์เข้าด้วยกันทำให้วิศวกรได้สร้างสรรค์งานในรูปแบบใหม่ๆ และยังทำให้ข้อจำกัดของนักออกแบบลดลง ซึ่งหลังจากนี้ทีมสถาปัตย์คาดว่าจะให้ความสำคัญกับงานด้าน interactive lighting มากขึ้นอีกเช่นกัน”